การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการจัดระเบียบสังคม พ.ศ. 2553

ข่าวทั่วไป Tuesday July 20, 2010 17:07 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

การเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบันมีปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่อเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะปัญหาด้านสังคมที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด การมั่วสุมทางเพศ การพนัน ฯลฯ ซึ่งจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการในการจัดระเบียบสังคม เพื่อให้สังคมน่าอยู่ และคนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ในการนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการจัดระเบียบสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตาม และประเมินผลการดำเนินมาตรการการจัดระเบียบสังคมเพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการติดตาม ปรับปรุง และวางแผนการดำเนินมาตรการการจัดระเบียบสังคมต่อไป โดยได้ทำการสำรวจระหว่าง วันที่ 1 — 20 มีนาคม 2553 จากประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ตกเป็นตัวอย่างทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 10,800 ราย

สรุปผลการสำรวจที่สำคัญๆ

1. ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเล่นเกมออนไลน์

ประชาชนร้อยละ 20.4 ระบุว่ามีสมาชิกในครัวเรือนเล่นเกมออนไลน์ และร้อยละ 79.6 ระบุว่าไม่มีสมาชิกในครัวเรือนเล่นเกมออนไลน์ โดยสมาชิกในครัวเรือนที่เล่นเกมออนไลน์นั้นร้อยละ 7.1 เป็นผู้ตอบสัมภาษณ์เล่นเอง ร้อยละ 13.2 เป็นสมาชิกในครัวเรือนเล่น และร้อยละ 0.1 เป็นผู้ตอบสัมภาษณ์และสมาชิกในครัวเรือนเล่น

เมื่อพิจารณาเฉพาะครัวเรือนที่มีสมาชิกเล่นเกมออนไลน์พบว่า ร้อยละ 59.3 ระบุว่าเล่นที่ร้านเกม — อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 38.5 ระบุว่าเล่นที่บ้าน มีเพียงร้อยละ 1.2 ระบุว่าเล่นที่โรงเรียน/สถานศึกษา และร้อยละ 1.0 ระบุว่าเล่นที่ทำงาน

โดยครัวเรือนที่เล่นเกมออนไลน์ร้อยละ 54.4 ระบุว่าเป็นประเภทการต่อสู้ทำลายล้างคู่ต่อสู้ และร้อยละ 43.7 ระบุว่าเป็นประเภททั่วไป ส่วนการเล่นเกมออนไลน์ประเภทอื่น เช่น กีฬา การล่อแหลมทางเพศ การเต้น และรถแข่ง มีครัวเรือนระบุว่าเล่นไม่เกินร้อยละ 1

นอกจากนั้นครัวเรือนที่เล่นเกมออนไลน์ร้อยละ 68.3 ระบุว่าใช้เวลา 1 — 7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ร้อยละ 22.3 ระบุว่าใช้เวลามากกว่า 7 ชั่วโมงแต่ไม่เกิน 14 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และร้อยละ 6.9 ระบุว่าใช้เวลามากกว่า 14 ชั่วโมงแต่ไม่เกิน 21 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีเพียงร้อยละ 2.5 ระบุว่าใช้เวลามากกว่า 21 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

2. การประสบปัญหาจากการเล่นเกมออนไลน์

ครัวเรือนที่เล่นเกมออนไลน์ร้อยละ 34.6 ระบุว่ามีปัญหาจากการเล่นเกมออนไลน์ซึ่งมีรูปแบบต่าง ๆ ในปัจจุบัน และร้อยละ 65.4 ระบุว่าไม่มีปัญหาจากการเล่นเกมออนไลน์ สำหรับปัญหาที่ครัวเรือนระบุมากที่สุด คือเรื่องการไม่สนใจการเรียน

การเล่นเกมออนไลน์ซึ่งจะส่งผลกระทบที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมนั้น ประชาชนร้อยละ 74.2 ระบุว่ามีผลกระทบ และร้อยละ 3.9 ระบุว่าไม่มีผลกระทบ ส่วนร้อยละ 21.9 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ โดยผู้ที่ระบุว่ามีผลกระทบเห็นว่าผลกระทบที่มีอยู่ในระดับมากที่สุดร้อยละ 11.7 มากร้อยละ 28.1 ปานกลางร้อยละ 24.4 น้อยร้อยละ 8.2 และน้อยที่สุดร้อยละ 1.8

3. ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาเกมออนไลน์

ประชาชนร้อยละ 37.7 ได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาเกมออนไลน์ ดังนี้ การจัดระเบียบร้านเกม - อินเทอร์เน็ต (ร้อยละ 36.6) การแบ่งระดับของเกมออนไลน์ตามอายุของผู้เล่น (ร้อยละ 24.4) และการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเกมออนไลน์อย่างเข้มงวด (ร้อยละ 18.8) เป็นต้น

4. ความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดระเบียบสังคม

4.1 ปัจจัยเชิงลบ

1) ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน/หมู่บ้านที่มีสถานบันเทิง/สถานบริการ ให้ความคิดเห็น ดังนี้

1.1) สถานบันเทิง/สถานบริการเปิด —ปิดเกินเวลา ประชาชนร้อยละ 32.8 ระบุว่ามี ร้อยละ 35.1 ระบุว่าไม่มี และร้อยละ 32.1 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

1.2) สถานบันเทิง/สถานบริการส่งเสียงดังรบกวนประชาชนร้อยละ 28.9 ระบุว่ามี ร้อยละ 51.3 ระบุว่าไม่มี และ ร้อยละ 19.8 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

1.3) การปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปในสถานบันเทิง/สถานบริการ ประชาชนร้อยละ 38.6 ระบุว่ามี ร้อยละ 23.1ระบุว่าไม่มี และร้อยละ 38.4 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

2) ร้านค้าแอบแฝง (หมายถึงร้านค้าที่ลักลอบจำหน่ายสินค้าผิดกฎหมาย) ประชาชนร้อยละ 9.6 ระบุว่ามีและร้อยละ 90.4 ระบุว่าไม่มี

3) ร้านค้าที่จำหน่ายสุราและบุหรี่ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ประชาชนร้อยละ 33.5 ระบุว่ามี และร้อยละ 42.8 ระบุว่าไม่มี ส่วนร้อยละ 23.7 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

4) ร้านขายเครื่องดื่มแอลกฮอล์กที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสถานศึกษา/ศาสนสถาน ประชาชนร้อยละ 33.9 ระบุว่ามี และร้อยละ 54.3 ระบุว่าไม่มี ส่วนร้อยละ 11.8 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

5) ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน/หมู่บ้านที่มีหอพัก บ้านเช่า อพาร์ทเมนต์ และคอนโดมิเนียม ให้ความคิดเห็นดังนี้

5.1) การมั่วสุมเสพยาเสพติดในหอพัก บ้านเช่า อพาร์ทเมนต์ และคอนโดมิเนียม ประชาชนร้อยละ 16.1 ระบุว่ามี ร้อยละ 41.9 ระบุว่าไม่มี และร้อยละ 42.0 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

5.2) การซื้อขายยาเสพติดในหอพัก บ้านเช่า อพาร์ทเมนต์ และคอนโดมิเนียม ประชาชนร้อยละ 8.9 ระบุว่ามี ร้อยละ 42.6 ระบุว่าไม่มี และร้อยละ 48.5 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

5.3) การมั่วสุมดื่มสุราในหอพัก บ้านเช่า อพาร์ทเมนต์ และคอนโดมิเนียม ประชาชนร้อยละ 39.5 ระบุว่ามี ร้อยละ 30.3 ระบุว่าไม่มี และร้อยละ 30.2 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

6) ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน/หมู่บ้านที่มีร้านเกม-อินเทอร์เน็ต ให้ความคิดเห็น ดังนี้

6.1) การซื้อขายยาเสพติดในร้านเกม-อินเทอร์เน็ตประชาชนร้อยละ 5.9 ระบุว่ามี ร้อยละ 46.8 ระบุว่าไม่มี และร้อยละ 47.3 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

6.2) การมั่วสุมเสพยาเสพติดในร้านเกม—อินเทอร์เน็ต ประชาชนร้อยละ 9.0 ระบุว่ามี ร้อยละ 45.4 ระบุว่าไม่มี และร้อยละ 45.6 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

7) การเที่ยวเตร็ดเตร่ของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในช่วงเวลาหลัง 22.00 น. ประชาชนร้อยละ 38.2 ระบุว่ามี และร้อยละ 41.3 ระบุว่าไม่มี ส่วนร้อยละ 20.5 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

8) การมั่วสุมรวมกลุ่มกันของเด็กและเยาวชนประชาชนร้อยละ 27.4 ระบุว่ามี และร้อยละ 55.5 ระบุว่า ไม่มี ส่วนร้อยละ 17.1 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

9) การมั่วสุมของเด็กนักเรียน/เยาวชน/เด็กเร่ร่อนในมุมอับ/ที่ลับตาคน/สวนสาธารณะ ประชาชนร้อยละ 20.0 ระบุว่ามี และร้อยละ 55.9 ระบุว่าไม่มี ส่วนร้อยละ 24.1 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

10) การขายบริการทางเพศในสวนสาธารณะประชาชนร้อยละ 3.4 ระบุว่ามี และร้อยละ 71.1 ระบุว่าไม่มี ส่วนร้อยละ 25.5 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

4.2 ปัจจัยเชิงบวก

1) การตรวจบัตรประชาชนผู้ที่เข้ามาใช้บริการในสถานบันเทิง/สถานบริการ ประชาชนร้อยละ 21.8 ระบุว่ามี และร้อยละ 34.0 ระบุว่าไม่มี ส่วนร้อยละ 44.2 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

2) การตรวจค้น จับกุม ปราบปรามแหล่งมั่วสุมของเยาวชนในหอพัก บ้านเช่า อพาร์ทเมนต์ คอนโดมิเนียม ประชาชนร้อยละ 19.0 ระบุว่ามี และร้อยละ 41.7 ระบุว่าไม่มี ส่วนร้อยละ 39.3 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

3) การตรวจค้น จับกุม ปราบปรามแหล่งมั่วสุมของเยาวชนในร้านเกม — อินเทอร์เน็ตในชุมชน/หมู่บ้านประชาชนร้อยละ 19.3 ระบุว่ามี และร้อยละ 41.2 ระบุว่าไม่มี ส่วนร้อยละ 39.5 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

เมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาลในชุมชน/หมู่บ้าน ประชาชนเห็นว่าเรื่องที่มีการดำเนินการ 3 อันดับแรก คือ การกวดขัน สอดส่อง ควบคุมสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดยาเสพติดในชุมชน/หมู่บ้าน (ร้อยละ 64.2) การจัดลานกีฬา/ลานดนตรี (ร้อยละ 61.3) และการจัดสถานที่ออกกำลังกาย (ร้อยละ 60.8)

5. ปัญหาสังคมที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไข

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาสังคมที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขในขณะนี้มากที่สุด คือปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 82.4)

สำหรับแหล่ง หรือ สถานที่ที่ประชาชนต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเข้าไปดูแล แก้ไขมากที่สุด คือ สถานบันเทิง/สถานบริการ (ร้อยละ 63.9) รองลงมา ได้แก่ ร้านเกม - อินเทอร์เน็ต (ร้อยละ 55.9) แหล่งอบายมุข เช่น สถานที่รับซื้อหวยใต้ดิน รับพนันบอล ฯลฯ (ร้อยละ 44.1) ชุมชนแออัด (ร้อยละ 26.1) หอพัก บ้านเช่า อพาร์ทเมนต์ คอนโดมิเนียม (ร้อยละ 23.4) และพื้นที่ของผู้มีอิทธพล (ร้อยละ 20.3) เป็นต้น

6. ความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการการจัดระเบียบสังคมของรัฐบาล

การดำเนินมาตรการในการจัดระเบียบสังคมของรัฐบาลเพื่อสร้างความสงบสุข และทำให้สังคมน่าอยู่นั้น ประชาชนร้อยละ 32.2 ระบุว่ารัฐบาลควรเข้มงวดมากกว่านี้ ร้อยละ 67.7 ระบุว่าดีอยู่แล้ว และร้อยละ 0.1 ระบุว่าเข้มงวดเกินไป โดยผู้ที่เห็นว่ารัฐบาลควรเข้มงวดมากกว่านี้ ได้ระบุเรื่องที่ควรเข้มงวดมากที่สุด คือ การมั่วสุมของเด็ก/เยาวชนในการเสพยาเสพติด (ร้อยละ 53.8)

นอกจากนั้น ประชาชนร้อยละ 35.1 ได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินมาตรการการจัดระเบียบสังคมให้ประสบผลสำเร็จ ดังนี้ การกวดขัน ควบคุม ดูแลอย่างต่อเนื่องและจริงจังของเจ้าหน้าที่รัฐ (ร้อยละ 44.2) การออกกฏหมาย/มีบทลงโทษที่รุนแรงเพื่อควบคุมปัญหาต่างๆ (ร้อยละ 27.1) และการเพิ่มเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอสำหรับการตรวจตราสถานที่ต่างๆ (ร้อยละ 21.9) และการให้คนในชุมชน/คนในครอบครัวช่วยกันสอดส่องดูแล (ร้อยละ 11.1) เป็นต้น

7. การประสบปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภค

ประชาชนร้อยละ 14.9 ระบุว่าประสบปัญหาความเดือดร้อนจากการซื้อ/ใช้สินค้า และร้อยละ 85.1 ระบุว่าไม่ประสบปัญหา โดยผู้ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากการซื้อ/ใช้สินค้าได้ระบุว่าเรื่องที่ประสบ คือ เรื่อง อาหาร/เครื่องดื่ม/เสื้อผ้า (ร้อยละ 72.5) เครื่องใช้ไฟฟ้า/ มือถือ (ร้อยละ 36.2) ยา/เครื่องสำอาง (ร้อยละ 26.8) รถยนต์/รถจักรยานยนต์ (ร้อยละ 10.7) บ้าน/อสังหาริมทรัพย์/วัสดุก่อสร้าง (ร้อยละ 6.7)

สำหรับปัญหาเรื่องความเดือดร้อนจากการใช้บริการประชาชนร้อยละ 14.2 ระบุว่าประสบปัญหา และร้อยละ 85.8 ระบุว่าไม่ประสบปัญหา โดยผู้ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากการใช้บริการได้ระบุว่าเรื่องที่ประสบ คือ เรื่องการบริการรักษาพยาบาล (ร้อยละ 58.5) การบริการเครือข่ายโทรศัพท์ เคลื่อนที่/จานดาวเทียม (ร้อยละ 39.4) การบริการขนส่งสาธารณะ (ร้อยละ 34.5) บัตรเครดิต/การประกัน (ร้อยละ 12.7) การรับบริการประปา ไฟฟ้า ที่ดิน ไปรษณีย์ ธนาคาร(ร้อยละ 1.4)

8. การร้องเรียนของผู้บริโภคต่อหน่วยงาน/ผู้ที่เกี่ยวข้อง

ประชาชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากการซื้อ/ใช้สินค้า หรือผู้ที่ประสบปัญหาจากการใช้บริการร้อยละ 10.8 ระบุว่าเคยร้องเรียนปัญหาดังกล่าวกับหน่วยงาน/ผู้ที่เกี่ยวข้อง และร้อยละ 89.2 ระบุว่าไม่เคยร้องเรียน โดยผู้ที่ร้องเรียนได้ร้องเรียนกับหน่วยงาน/ผู้ที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ได้แก่ บริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ สำ นักงานคุ้มครองผู้บริโภค สำ นักงานคณะกรรมการอาหารและยาโรงพยาบาล เป็นต้น ส่วนผู้ที่ไม่ร้องเรียนให้เหตุผลเป็นเพราะเสียเวลา ร้องเรียนไปก็ไม่เกิดประโยชน์ และถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย

นอกจากนั้นยังได้มีการสอบถามประชาชนที่เคยร้องเรียนกับหน่วยงาน/บุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งมีร้อยละ 38.4 ระบุว่าเรื่องที่ร้องเรียนดังกล่าวได้รับการแก้ไข ร้อยละ 12.5 ระบุว่าเรื่องที่ร้องเรียนอยู่ระหว่างดำเนินการ และร้อยละ 29.9 ระบุว่าไม่ได้รับการแก้ไข ส่วนร้อยละ 19.2 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

9. ความพึงพอใจต่อการทำงานของหน่วยงาน/บุคคลที่ไปร้องเรียน

สำหรับประชาชนที่ร้องเรียนปัญหากับหน่วยงาน/ผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งมีร้อยละ 73.0 ระบุว่าพึงพอใจต่อการทำงานของหน่วยงาน/บุคคลที่ไปร้องเรียน ร้อยละ 27.0 ระบุว่า ไม่พึงพอใจ โดยผู้ที่พึงพอใจร้อยละ 1.6 ระบุว่าพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด ร้อยละ 13.4 ระบุว่ามาก ร้อยละ 37.9 ระบุว่าปานกลาง ร้องละ 16.1 ระบุว่าน้อย และร้อยละ 4.0 ระบุว่าน้อยที่สุด ส่วนผู้ที่ไม่พึงพอใจให้เหตุผลเป็นเพราะไม่ได้รับการแก้ไข ใช้เวลาการดำเนินการนานกว่าจะได้เรื่องไม่ทราบผลการดำเนินการที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร และเจ้าหน้าที่ไม่เต็มใจในการให้บริการ เป็นต้น

10. ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการธุรกิจที่มีต่อผู้บริโภค

ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้ประกอบการธุรกิจในปัจจุบันที่มีต่อผู้บริโภคนั้น ประชาชนร้อยละ 77.6 เห็นว่ามีความรับผิดชอบ และร้อยละ 22.4 เห็นว่าไม่มีความรับผิดชอบ

11. ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิ/ประโยชน์ของผู้บริโภค

ประชาชนร้อยละ 28.1 ได้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการในการคุ้มครองสิทธิ/ประโยชน์ของผู้บริโภค ดังนี้ การมีบทลงโทษที่เด็ดขาดกับผู้ประกอบการธุรกิจที่กระทำความผิด (ร้อยละ 31.0) การตรวจสอบคุณภาพ/มาตรฐานของสินค้าก่อนออกสู่ท้องตลาด (ร้อยละ 21.7) และการควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (ร้อยละ 21.7) เป็นต้น

ในการสำรวจครั้งนี้ได้สำรวจด้วยตัวอย่างแบบ Stratified Three-stage Sampling โดยส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติไปสัมภาษณ์สมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ครัวเรือนละ 1 ราย ทั่วประเทศได้ประชาชนตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 10,800 ราย ระหว่างวันที่ 1 — 20 มีนาคม 2553 และนำเสนอผลในระดับกรุงเทพมหานคร ภาค และทั่วประเทศ จำแนกตามเขตการปกครอง ในรูปร้อยละ โดยมีผู้ตอบสัมภาษณ์เป็นชาย ร้อยละ 47.0 เป็นหญิง ร้อยละ 53.0 มีอายุระหว่าง 15—19 ปี ร้อยละ 8.7 อายุ 20—29 ปี ร้อยละ 16.3 อายุ 30—39 ปี ร้อยละ 22.4 อายุ 40—49 ปี ร้อยละ 20.8 อายุ 50—59 ปี ร้อยละ 20.3 และอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 11.5 การศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ร้อยละ 84.8 ปริญญาตรีขึ้นไป ร้อยละ 12.6 ที่เหลือเป็นผู้ไม่ได้รับการศึกษา ร้อยละ 2.6 สถานภาพการทำงานเป็นเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป/กรรมกร ร้อยละ 31.4 ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ/เอกชน ร้อยละ 8.4 ค้าขาย/ประกอบธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 20.7 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 9.8 และแม่บ้าน ร้อยละ 13.4

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ