การประมวลข้อมูลพื้นที่การก่อสร้างเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลของสิ่งก่อสร้างทุกประเภทที่เอกชนได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง ต่อเติมหรือดัดแปลงเกี่ยวกับจำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง จำนวนสิ่งก่อสร้าง และพื้นที่ก่อสร้าง ข้อมูลดังกล่าวสามารถนำไปใช้ประโยชน์สำหรับหน่วยงานภาครัฐในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับเอกชนใช้ในการจัดทำตัวชี้วัดด้านที่อยู่อาศัย ใช้ในการติดตามภาวะเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ การส่งเสริมการขายและการลงทุน
ข้อมูลพื้นที่การก่อสร้าง ไตรมาสที่ 1/2553 เป็นข้อมูลในระดับภาคและทั่วประเทศ ที่อยู่ในเขตเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล(บางส่วน) ในพื้นที่ที่มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 สรุปได้ดังนี้
1. จำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง และพื้นที่ก่อสร้าง
ในไตรมาส 1 ปี 2553 มีเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่ ต่อเติมหรือดัดแปลงจำนวนทั้งสิ้น 46,819 ราย เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างสิ่งก่อสร้างใช้เป็นอาคารอาคารโรงเรือน 41,341 ราย และที่มิใช่อาคารโรงเรือน 5,478 ราย ดังนี้
1.1 สิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารโรงเรือนสำหรับสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารโรงเรือนนั้นมีผู้ใด้ใบอนุญาตให้ก่อสร้าง 41,341 รายมีพื้นที่ก่อสร้าง 15.5 ล้าน ต.ร.ม. ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 98.0)ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่ และร้อยละ 2.0ได้รับอนุญาตให้ต่อเติมหรือดัดแปลง
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารโรงเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 และมีพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 จำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 และพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.2
1.2 สิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือน
สำหรับสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนมีเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง 5,478 ราย ส่วนใหญ่ร้อยละ 98.9 ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่ และร้อยละ 1.1 ได้รับอนุญาตให้ต่อเติมหรือดัดแปลง โดยเป็นสิ่งก่อสร้างประเภทลานจอดรถ สนามกีฬา ปั๊มน้ำมันป้ายโฆษณา สระว่ายน้ำ ฯลฯ มีพื้นที่ก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 540,059 ต.ร.ม. และประเภทท่อ/ทางระบายน้ำ ถนน รั้ว/กำแพง สะพาน เขื่อน/คันดิน ฯลฯ มีความ ยาวก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 627,943 เมตร
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 และมีพื้นที่ก่อสร้างในส่วนที่คิดเป็นความยาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.0 แต่มีพื้นที่ก่อสร้างที่คิดเป็นพื้นที่ ลดลงร้อยละ 7.2 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 พบว่าจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1โดยมีพื้นที่ของสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 80.8 และความยาวของสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.6
2. ชนิดของสิ่งก่อสร้าง
2.1 สิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารโรงเรือน
อาคารโรงเรือนที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างในไตรมาส 1/2553 ส่วนใหญ่เป็นอาคารโรงเรือนเพื่ออยู่อาศัยโดยมีพื้นที่รวม 10.9 ล้าน ต.ร.ม. หรือร้อยละ 70.0 ของสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารโรงเรือนทั้งสิ้น ส่วนอาคารโรงเรือนที่ก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์และสำนักงานมี พื้นที่รวม 2.1 ล้าน ต.ร.ม. คิดเป็นร้อยละ 13.7 เพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงานมีพื้นที่ก่อสร้างรวม 1.4 ล้านต.ร.ม. คิดเป็นร้อยละ 8.8 เป็นการก่อสร้างโรงแรม คิดเป็นพื้นที่ 319,432 ต.ร.ม. และเป็นการก่อสร้างอาคารเพื่อการศึกษา และสาธารณสุข จำนวน 158,318 ต.ร.ม.
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าอาคารโรงเรือนมีพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 (จากพื้นที่ 12,878,221 ตร.ม. เป็น 15,511,177 ตร.ม.) โดยเฉพาะการก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์ และสำนักงาน เพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 26.6 (จากพื้นที่ 1,682,509 ตร.ม. เป็น 2,129,285 ตร.ม.) รองลงมาเป็นการก่อสร้าง เพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.0 (จากพื้นที่การก่อสร้าง 1,113,642 ตร.ม. เป็น 1,370,019 ตร.ม.) อาคารโรงแรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 (จากพื้นที่ 269,880 ตร.ม. เป็น 319,432 ล้าน ตร.ม.) สำหรับการก่อสร้างเพื่ออยู่อาศัย มีพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 และการก่อสร้าง อื่น ๆเพิ่มขึ้น ร้อยละ 41.7
หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 พบว่า อาคารโรงเรือนมีพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.2 (จากพื้นที่ 10,259,533 ตร.ม. เป็น 15,511,177 ตร.ม.)
2.2 สิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือน
สำหรับสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนนั้นส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างถนนและท่อ/ทางระบายน้ำ ที่มีความยาวใกล้เคียงกัน คือ ความยาว 251,893 เมตรและ 251,854 เมตรหรือร้อยละ 40.1 ของสิ่งก่อสร้างที่มีความยาวทั้งสิ้น และเป็นการก่อสร้าง รั้ว/กำแพงซึ่งมีความยาว 100,371 เมตร หรือร้อยละ 16.0
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนมีความยาวของสิ่งก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.0 (จากความยาว 394,831 ม. เป็น 627,943 ม.) และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.6 (จากความยาว 406,191 ม. เป็น 627,943 ม.)
สำหรับสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนที่คิดเป็นพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างลานจอดรถได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างคิดเป็นพื้นที่ 217,448 ต.ร.ม.หรือร้อยละ 40.4 และปั๊มน้ำมันได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างคิดเป็นพื้นที่ 71,578 ต.ร.ม. หรือร้อยละ 13.3
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่ของสิ่งก่อสร้างได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยรวมเลดลงร้อยละ 7.2 (จากพื้นที่ 581,818 ตร.ม. เป็น 540,059 ตร.ม.) และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 80.8 (จากพื้นที่ 298,623 ตร.ม. เป็น 540,059 ตร.ม.)
สรุป จากการประมวลข้อมูลพื้นที่การก่อสร้างในไตรมาส 1/2553 พบว่า จำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารโรงเรือนจำนวน 41,341 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 จากไตรมาสที่ผ่านมา ในขณะที่พื้นที่ก่อสร้างซึ่งมีจำนวน 15.5 ล้าน ตร.ม. เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 จากไตรมาสที่ผ่านมา หากจำแนกตามชนิดของสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ร้อยละ 70.0 จะเป็นการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย คิดเป็นพื้นที่ก่อสร้าง 10.9 ล้าน ตร.ม. เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.6 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 สำหรับสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช่อาคารโรงเรือนมีพื้นที่ก่อสร้างลดลงร้อยละ 7.2 แต่ความยาวของสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.0 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม จากการประมวลข้อมูลพบว่าจำนวนผู้ได้รับอนุญาตและพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างประเภทอาคารโรงเรือนในไตรมาส 1/2553 ในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา และการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนของสิ่งก่อสร้างที่วัดพื้นที่ก่อสร้างเป็นความยาวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งสะท้อนภาวะเศรษฐกิจของประเทศส่งสัญญาณฟื้นตัว ซึ่งสอดคล้องกับภาวะการมีงานทำที่เพิ่มขึ้นของประชากรในสาขาการก่อสร้าง เช่นเดียวกับธุรกิจเกี่ยวกับการขายวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างมีปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นไปด้วย