สรุปผลข้อมูลเบื้องต้น การสำรวจการประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง พ.ศ. 2552 (ผู้ประกอบการรถร่วม)
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำสำรวจการประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการรถร่วม ได้แก่ รูปแบบการจัดตั้งตามกฎหมาย รายรับ-ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ จำนวนพนักงานที่ปฏิบัติงาน และค่าตอบแทนแรงงาน ประเภทและมูลค่าสินทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งในการสำรวจได้สุ่มตัวอย่างจากสถานประกอบการ รถร่วมขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางทั่วประเทศ ในเส้นทางการเดินรถหมวด 1 - 4 คือ
หมวด 1 เส้นทางการขนส่งประจำทาง ด้วยรถโดยสารภายในเขตกรุงเทพมหานคร เทศบาล เมือง และเส้นทางต่อเนื่องภายในจังหวัด
หมวด 2 เส้นทางเดินรถโดยสารที่มีจุดเริ่มต้นจากกรุงเทพฯ ไปยังส่วนภูมิภาค
หมวด 3 เส้นทางเดินรถระหว่างจังหวัด หรือคาบเกี่ยวระหว่างจังหวัดในภูมิภาค
หมวด 4 เส้นทางเดินรถระหว่างอำเภอ หมู่บ้าน หรือเขตชุมชนภายในจังหวัด
ในการสำรวจ มีสถานประกอบการขนส่งดังกล่าวข้างต้นตกเป็นตัวอย่างจำนวน 22,851 ราย และได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือน มิ.ย. - ก.ค. 2552 สรุปผลการสำรวจสำคัญ ได้ดังนี้
1) จำนวนผู้ประกอบการ
ในปี 2551 มีผู้ประกอบการรถร่วม ทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 33,580 ราย หากพิจารณาผู้ประกอบการเป็นรายภาค พบว่า มีผู้ประกอบการอยู่ในภาคกลางมากที่สุดคือมีทั้งสิ้น 9,747 ราย (ร้อยละ 29.0) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9,374 ราย (ร้อยละ 27.9) ภาคเหนือ 5,657 ราย (ร้อยละ 16.9) และที่อยู่ในภาคใต้มี 4,893 ราย (ร้อยละ 14.6) กรุงเทพมหานครมีน้อยที่สุดจำนวน 3,909 ราย (ร้อยละ 11.6)
2) รูปแบบการจัดตั้งตามกฎหมาย
การดำเนินกิจการของผู้ประกอบการรถร่วมทั่วประเทศ ในปี 2551 นั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 99.0 ดำเนินการในรูปแบบส่วนบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน รองลงมาเป็นบริษัทจำกัด ร้อยละ 0.9 ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดร้อยละ 0.1
3) ขนาดของกิจการ
เมื่อจำแนกกิจการของผู้ประกอบการรถร่วม ตามขนาดโดยใช้จำนวนรถโดยสารที่มีอยู่ในกิจการเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา พบว่า ผู้ประกอบการรถร่วมส่วนใหญ่คือ 31,590 ราย (ร้อยละ 94.1) มีรถโดยสาร 1 คัน ผู้ประกอบการที่มีรถโดยสาร 2 คัน มีจำนวน 1,116 รายหรือร้อยละ 3.3 สำหรับผู้ประกอบการที่มีรถโดยสาร 3 - 5 คัน มีจำนวน 573 รายหรือร้อยละ 1.7 ส่วนผู้ประกอบการที่มีรถโดยสารมากกว่า 5 คันขึ้นไป มีประมาณ 301 รายหรือคิดเป็นร้อยละ 0.9
4) จำนวนรถโดยสาร
ในปี 2551 ในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการรถร่วมทั่วประเทศ มีรถโดยสารจำนวนทั้งสิ้น 40,743 คัน หรือเฉลี่ย 1.2 คันต่อกิจการ ในจำนวนนี้เป็นรถปรับอากาศจำนวน 4,779 คัน และเป็นรถไม่ปรับอากาศ จำนวน 35,964 คัน
หากพิจารณาจำนวนรถโดยสารเป็นรายภาค พบว่า ภาคกลางมีรถโดยสารจำนวนมากที่สุดถึง 10,303 คัน รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวน 9,845 คัน กรุงเทพมหานครมีจำนวน 9,685 คัน ภาคเหนือมีจำนวน 5,838 คัน และภาคใต้มีรถโดยสารจำนวนน้อยที่สุดเพียง 5,072 คัน
5) จำนวนพนักงาน
ในปี 2551 การประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางของผู้ประกอบการรถร่วม ทั่วประเทศ มีพนักงานซึ่งรวมทั้งที่ปฎิบัติงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างด้วยมีจำนวน 59,552 คน ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำรถ 55,698 คนหรือร้อยละ 93.5 ในจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำรถนี้ เป็นคนขับรถร้อยละ 69.8 และเป็นพนักงานติดรถร้อยละ 23.7 สำหรับพนักงานที่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานมีอยู่ ร้อยละ 2.6 เป็นช่างเครื่องยนต์/พนักงานซ่อมรถ ร้อยละ 2.1 และเป็นเจ้าหน้าที่อื่นๆ เช่น นายตรวจ นายท่า ผู้จัดคิว ฯลฯ ร้อยละ 1.8
6) ค่าตอบแทนแรงงาน
ในปี 2551 พนักงานที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางได้รับค่า ตอบแทนแรงงานรวมทั้งสิ้น 4,654.3 ล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อคนต่อปีประมาณ 78,155 บาท ส่วนใหญ่มากกว่าครึ่งเป็นค่าตอบแทนแรงงานสำหรับเจ้าหน้าที่ประจำรถ ประมาณ 4,275.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 91.9 หรือเฉลี่ยต่อคนต่อปีประมาณ 76,765 บาท รองลงมาเป็นค่าตอบแทนแรงงานสำหรับเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน จำนวน 165.1 ล้านบาทหรือร้อยละ 3.5 หรือเฉลี่ยต่อคนต่อปีสูงสุด 105,398 บาท ค่าตอบแทนสำหรับช่างเครื่องยนต์/พนักงานซ่อมรถ ประมาณ 114.6 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 2.5 ซึ่งได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อคนต่อปีประมาณ 94,869 บาท และสำหรับเจ้าหน้าที่อื่นๆ จำนวน 99.0 ล้านบาทหรือร้อยละ 2.1 หรือเฉลี่ย ต่อคนต่อปี 91,632 บาท
7) มูลค่าผลผลิต ค่าใช้จ่ายขั้นกลาง และมูลค่าเพิ่ม
ในการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการรถร่วมในปี 2551 มีมูลค่าผลผลิตรวมทั้งสิ้น 26,875.1 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายขั้นกลางประมาณ 14,815.5 ล้านบาท และมีมูลค่าเพิ่มประมาณ 12,059.6 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนของมูลค่าเพิ่มต่อมูลค่าผลผลิตประมาณร้อยละ 44.9 สำหรับมูลค่าผลผลิตเฉลี่ยต่อกิจการต่อปีประมาณ 800,329.5 บาท และมูลค่าผลิตเฉลี่ยต่อรถโดยสาร (คัน) และเฉลี่ยต่อคนทำงานประมาณ659,624.1 บาท และ 451,287.4 บาท ตามลำดับ
สำหรับมูลค่าเพิ่มเฉลี่ยต่อกิจการต่อปี และเฉลี่ยต่อรถโดยสาร (คัน) มีประมาณ 359,128.6 บาท และ 295,990.5 บาท ตามลำดับ ส่วนมูลค่าเพิ่มเฉลี่ยต่อคนทำงานประมาณ 202,504.3 บาท
8) เปรียบเทียบการดำเนินกิจการขนส่งโดยสารประจำทางของผู้ประกอบการ
เมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจการประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง พ.ศ. 2552 กับช่วงที่ผ่านมา เป็นข้อมูลของการดำเนินกิจการในรอบปี 2551 เทียบกับปี 2546 — 2547 พบว่า จำนวนผู้ประกอบการมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 จำนวนรถโดยสารทั้งสิ้นลดลงร้อยละ 0.8 และจำนวนเที่ยววิ่งลดลงร้อยละ 4.0
ในด้านการจ้างงาน พบว่า จำนวนพนักงานลดลงร้อยละ 13.4 ส่งผลให้จำนวนพนักงานเฉลี่ยต่อกิจการลดลงร้อยละ 14.3 (จาก 2.1 คนเป็น 1.8 คน)
ในด้านการดำเนินกิจการ พบว่า มูลค่าผลผลิตในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.6 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายขั้นกลางซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามภาวะเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.0 ซึ่งเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลรักษารถยนต์โดยสารสูงขึ้น และไม่สามารถปรับค่าโดยสารได้
9) ปัญหาในการดำเนินกิจการ
ผู้ประกอบการรถร่วมในทุกๆ ภาคกว่า ร้อยละ 80.6 รายงานว่าประสบปัญหาในการประกอบกิจการ
สำหรับปัญหาที่ประสบนั้น ผู้ประกอบการ ทั่วประเทศ ร้อยละ 68.8 ระบุว่าเป็นปัญหาจากการที่มีรถป้ายดำหรือรถอื่นมาวิ่งทับเส้นทางมากที่สุด รองลงมาคือปัญหาจากการไม่สามารถปรับราคาค่าโดยสารคิดเป็นร้อยละ 49.0 ปัญหาจากต้นทุนการดำเนินกิจการสูงเกินไป เช่น ค่าซ่อมแซมและค่าบำรุงรักษาเครื่องยนต์โดยสารสูงมาก ร้อยละ 39.5สำหรับปัญหาการจราจรและปัญหาที่จอดรถ ร้อยละ 24.8 ส่วนปัญหาอื่น เช่น ปัญหาในการควบคุมพนักงานขับรถและพนักงานประจำรถ ปัญหาข้อกฎหมายและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ประกอบการรถร่วมเห็นว่าเป็นปัญหาประมาณร้อยละ 6.2 — 10.5
10) ความช่วยเหลือที่ต้องการจากรัฐ
ผู้ประกอบการรถร่วมทั่วประเทศ ร้อยละ 80.2 ระบุว่าต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ หากพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ผู้ประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องการความช่วยเหลือมีสัดส่วนค่อนข้างสูงกว่าภาคอื่น คือมีถึงร้อยละ 85.0 กรุงเทพมหานครและภาคใต้ผู้ประกอบการ ต้องการความช่วยเหลือมีประมาณร้อยละ 83.5 และ 82.1 ตามลำดับ ในขณะที่ภาคเหนือและกลาง มีประมาณร้อยละ 79.1 และ 74.2 สำหรับความช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐดำเนินการกับรถที่วิ่งทับเส้นทางเป็นอันดับแรก ซึ่งสอดคล้องกับปัญหาที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด ส่วนมาตรการอื่นที่ต้องการรองลงมา ได้แก่ ปรับปรุงสภาพถนนและสถานที่จอดรถ ผ่อนปรนให้ประกอบการกำหนดค่าโดยสารเองภายใต้กฎระเบียบของภาครัฐ และให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการขนส่งกรณีการลดหย่อนค่าโดยสารแก่บุคคลต่างๆ นอกจากนั้นต้องการให้รัฐช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ เช่น ลดภาษีน้ำมัน ก๊าซและควรมีสถานีบริการให้มากขึ้น ปรับเพิ่มค่าโดยสารจัดสถานที่ที่สะดวกต่อการเสียภาษีรถยนต์ และควรให้ผู้ประกอบการรถร่วมมีส่วนร่วม ในการเสนอความคิดเห็นในเรื่องการปรับปรุงเส้นทางเดินรถโดยสาร