สำนักงานสถิติแห่งชาติ ดำเนินการสำรวจการย้ายถิ่นของประชากร พ.ศ. 2552 โดยเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 จากประชากรตัวอย่างทั้งสิ้น 894,218 คน เพื่อรวบรวมข้อมูลพื้นฐานด้านประชากรและสังคมของผู้ย้ายถิ่น สำหรับนำไปใช้ในการติดตามสถานการณ์การย้ายถิ่นของประชากร ซึ่งผลการสำรวจสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. จำนวนและอัตราการย้ายถิ่น
ผู้ย้ายถิ่น1/ มีทั้งสิ้น 2.0 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ3.0 ของประชากรทั้งประเทศ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนผู้ย้ายถิ่นสูงสุดคือ 9.1 แสนคน (ร้อยละ 45.4) และกรุงเทพมหานครมีจำนวนผู้ย้ายถิ่นต่ำสุดคือ 4.5 หมื่นคน(ร้อยละ 2.3)
เมื่อพิจารณาอัตราการย้ายถิ่นเป็นรายภาคในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ.2548-2552) พบว่า ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการย้ายถิ่นสูงขึ้น และในปี 2552 ภาคกลางและภาคเหนือมีอัตราการย้ายถิ่นเท่ากับอัตราการย้ายถิ่นของประชากรทั้งเทศ คือร้อยละ 3.0
2. เพศและอายุ
เพศชายมีอัตราการย้ายถิ่นสูงกว่าเพศหญิง (ร้อยละ 3.3 และ 2.7 ตามลำดับ) และพบว่าอัตราการย้ายถิ่นของเพศชายและเพศหญิง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการสำรวจในปี 2551
ในปี 2552 วัยที่มีการย้ายถิ่นสูงสุด คือวัยผู้ใหญ่ (25-59 ปี) ซึ่งมีร้อยละ 52.3 ของผู้ย้ายถิ่นทั้งสิ้น รองลงมาคือวัยเยาวชน วัยเด็ก และต่ำสุดในวัยสูงอายุ(ร้อยละ 1.3) และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 พบว่า การย้ายถิ่นของเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีอายุ 35-59 ปีพบว่ามีสัดส่วนลดลง สำหรับเยาวชนและผู้ที่มีอายุ 25-34 ปี มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
3. ระดับการศึกษา
เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งที่ผ่านมาพบว่า ผู้ย้ายถิ่นที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และต่ำกว่ามีสัดส่วนลดลง ส่วนผู้ย้ายถิ่นที่สำเร็จระดับมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นไป มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
4. การทำงาน
ในจำนวนผู้ย้ายถิ่นอายุ 15 ปี ซึ่งมีทั้งสิ้น 1.8 ล้านคนนั้น พบว่าเป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานร้อยละ 77.1 และ 3 ใน 4 เป็นผู้ที่มีงานทำ (ร้อยละ 70.0) โดยอาชีพเกษตรกรมีสัดส่วนสูงสุด (ร้อยละ 30.3) รองลงมาคือ อาชีพพนักงานบริการและอาชีพขั้นพื้นฐานในด้านการขายและการให้บริการ (ร้อยละ 17.2 และร้อยละ16.4 ตามลำดับ) สำหรับผู้ย้ายถิ่นที่ว่างงานพบว่ามีอยู่ร้อยละ 6.8 ส่วนผู้ที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงานมีร้อยละ 22.9 ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงานเพราะทำงานบ้าน (ร้อยละ 11.0)
5. ประเภทของการย้ายถิ่น
เมื่อพิจารณาการย้ายถิ่นตามประเภทการย้ายถิ่นพบว่า ผู้ย้ายถิ่นระหว่างภาคมีจำนวนมากกว่าผู้ย้ายถิ่นภายในภาคเดียวกันเล็กน้อย (ร้อยละ 50.7 และร้อยละ 46.5 ตามลำดับ) ซึ่งมีข้อสังเกตว่าตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา การย้ายถิ่นภายในภาคเริ่มมีแนวโน้มลดลงในขณะที่การย้ายถิ่นระหว่างภาคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยพบว่าการย้ายถิ่นออกจากกรุงเทพมหานครสูงเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือย้ายออกจากภาคกลางส่วนอัตราการย้ายถิ่นมาจากต่างประเทศ เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2551 และพบว่าในปี 2552 มีอัตราสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา
6. เหตุผลของการย้ายถิ่น
เหตุผลของการย้ายถิ่นที่มีสัดส่วนสูงสุดคือเหตุผลด้านครอบครัว โดย 1 ใน 3 ของผู้ย้ายถิ่นย้ายกลับภูมิลำเนา (ร้อยละ33.5) รองลงมาคือย้ายเพราะติดตามครอบครัว (ร้อยละ23.9) สำหรับเหตุผลด้านการงาน พบว่ามี ร้อยละ 17.0 ซึ่งเหตุผลที่ย้ายเพื่อหางานมากกว่าย้ายเพราะเปลี่ยนงาน
7. การกลับภูมิลำเนา
ผู้ย้ายถิ่น 2.0 ล้านคน มีผู้ที่กลับภูมิลำเนาในช่วง 1 ปี นับตั้งแต่ย้ายมาอยู่สถานที่อยู่ปัจจุบันประมาณ 3 ใน 5 (ร้อยละ 62.3) โดยพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งกลับช่วงปีใหม่ (ร้อยละ 48.9) สำหรับพาหนะในการเดินทางกลับภูมิลำเนา พบว่า ผู้ย้ายถิ่นเดินทางด้วยรถทัวร์สูงเป็นอันดับหนึ่ง (ร้อยละ 39.1) รองลงมาคือ รถยนต์ส่วนตัว ร้อยละ 32.2 นอกนั้น คือ โดยสารรถตู้ รถไฟ เครื่องบิน และอื่น ๆ และมีผู้ที่ไม่เคยกลับภูมิลำเนาเลยประมาณร้อยละ 37.7
8. การส่งเงิน/ส่งของ
ผู้ย้ายถิ่นอายุ 15 ปีขึ้นไป (1.8 ล้านคน) เป็นผู้ที่ส่งเงิน/ส่งของไปเขตเทศบาล/หมู่บ้านอื่น จำนวน 3.0 แสนคน (ร้อยละ 15.0) โดย 3 ใน 4 ของผู้ย้ายถิ่น (ร้อยละ 73.8) ส่งให้กับบิดา/มารดา รองลงมาคือส่งให้บุตร และสามี/ภรรยา