สศก. ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการปรับโครงสร้างสินค้ากาแฟแบบครบวงจรมั่นใจกาแฟใต้พร้อมสู้ในตลาดการค้าเสรีอาเซียน

ข่าวทั่วไป Thursday October 7, 2010 15:53 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลงพื้นที่ชุมพรและระนองติดตามความก้าวหน้าโครงการปรับโครงสร้างสินค้ากาแฟแบบครบวงจร เผยเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟให้ความสนใจที่จะปรับปรุงดูแลสวนกาแฟตามคำแนะนำของหน่วยงาน โดยมั่นใจจะช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน รวมทั้งช่วยบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปิดตลาดสินค้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนได้

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า โครงการปรับโครงสร้างสินค้ากาแฟแบบครบวงจร มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และพัฒนาธุรกิจกาแฟของสถาบันเกษตรกร เป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดตลาดสินค้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการในสถาบันเกษตรกร 3 แห่ง ประกอบด้วย 1) สหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟจังหวัดชุมพร 2) กลุ่มเกษตรกรทำสวนเขาทะลุ อ.สวี จ.ชุมพร และ 3) กลุ่มเกษตรกรทำสวน จปร. อ.กระบุรี จ.ระนอง โดยกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนเงินทุนจำนวน 54.443 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายในการส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ จำนวน 23.214 ล้านบาท และเป็นเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยของสถาบันเกษตรกรในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์แปรรูปและบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับรวบรวมผลผลิตกาแฟจากเกษตรกร จำนวน 31.230 ล้านบาท มีระยะเวลาโครงการ 7 ปี

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยศูนย์ประเมินผล ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาพบว่า เกษตรกรสมาชิกโครงการได้รับการอบรม / ดูงาน เกี่ยวกับการปรับปรุงดูแลสวนกาแฟตามหลักวิชาการ พร้อมทั้งได้รับวัสดุอุปกรณ์ปัจจัยการผลิตในการนำไปปฏิบัติ และมีการจัดทำแปลงตัวอย่าง ซึ่งเกษตรกรสมาชิกโครงการจะนำความรู้ไปขยายผลในพื้นที่ของตนเองต่อไป นอกจากนี้แปลงตัวอย่างร้อยละ 89 ของจำนวนทั้งหมด (30 แปลง) มีเกษตรกรรายอื่นๆ เข้ามาศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้จำนวนเฉลี่ย 23 รายต่อแปลง ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจและจะนำไปปฏิบัติในแปลงของตนเอง โดยเชื่อว่าจะสามารถเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนได้

สำหรับสถาบันเกษตรกรทั้ง 3 แห่ง ได้นำเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยที่ได้รับ ไปดำเนินการจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์แปรรูปและบรรจุภัณฑ์กาแฟ คาดว่าเมื่อเสร็จสมบูรณ์จะสามารถแปรรูปเพิ่มมูลค่าและพัฒนาธุรกิจกาแฟอย่างมืออาชีพต่อไป อย่างไรก็ตาม การสร้างชื่อเสียงให้แหล่งผลิตและผลิตภัณฑ์สินค้ากาแฟ รวมทั้งความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภคก็เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่จะผลักดันให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปิดตลาดการค้าเสรีอาเซียนได้ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถาบันเกษตรกรจึงจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่ นายอภิชาต กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ