สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ติดตามผลการดำเนินงานโครงการนิคมการเกษตรนำร่อง ทั้ง 7 แห่ง พบ โครงการฯ มีความก้าวหน้าในทุกด้านโดยรวมเป็นไปตามแผน พร้อมเตรียมเดินหน้าขยายผลโครงการฯ ด้านปัญหาที่พบส่วนใหญ่เป็นภัยธรรมชาติ ขณะนี้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาแล้ว
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการติดตามสนับสนุนการดำเนินงานโครงการนิคมการเกษตร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเพื่อติดตามผลการดำเนินการโครงการฯ ว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรดำเนินการติดตามสนับสนุนการดำเนินงานโครงการนิคมการเกษตรนำร่องทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ นิคมข้าว จ.นครราชสีมา นิคมปาล์มน้ำมัน จ.นครศรีธรรมราช นิคมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จ.ตาก นิคมมันสำปะหลังจ.จันทบุรี นิคมข้าว จ.ร้อยเอ็ด นิคมข้าว จ.ฉะเชิงเทรา และนิคมข้าว จ.สุพรรณบุรี โดยใช้งบประมาณในการดำเนินงานรวม 299 ล้านบาท สามารถสรุปผลความก้าวหน้าในการดำเนินงานเป็น 6 ด้าน ได้ดังนี้
ด้านการเพิ่มศักยภาพการผลิต เช่น การจัดตั้งศูนย์ข้าวชุมชน การจัดทำแปลงสาธิต แปลงเรียนรู้ และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต และด้านการฝึกอบรมให้ความรู้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความรู้ทางการผลิต เช่นจัดการดิน การผลิตระบบ GAP การจัดทำบัญชีครัวเรือน และด้านความเข้มแข็งของเกษตรกร เช่น การสร้างแกนนำ การจัดตั้งกลุ่มผลิต และการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่กำหนดไว้ทั้ง 3 ด้าน
ส่วนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การสร้างอ่างเก็บน้ำ ระบบส่งน้ำ การขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาตชาติทั้ง 7 โครงการ มีความก้าวหน้าร้อยละ 80 ของเป้าหมาย ด้านการเพิ่มศักยภาพการแปรรูปและการตลาด เช่น การสนับสนุนอุปกรณ์ การก่อสร้างลานตากและโรงเก็บผลผลิตมีความก้าวหน้าประมาณร้อยละ 70 และด้านการอำนวยการและประสานงาน เช่น การจัดประชุมคณะทำงานระดับจังหวัด การประสานและบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนโครงการ พบว่า ยังมีการดำเนินการในแต่ละนิคมที่แตกต่างกันโดยมีความก้าวหน้าประมาณร้อยละ 70 ของเป้าหมาย
สำหรับปัญหาที่พบในการดำเนินงานส่วนใหญ่เป็นเรื่องภัยธรรมชาติ เช่น นิคมข้าว จ.นครราชสีมา และนิคมปาล์มน้ำมัน จ. นครราชสีมา ที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง ทำให้สถานีสูบน้ำไม่สามารถทำงานได้ และส่งผลต่อสวนปาล์มที่ขาดน้ำ ซึ่งขณะนี้ กรมชลประทานได้เร่งขุดลอกคลองธรรมชาติเพื่อช่วยเหลือแล้ว ส่วนนิคมข้าว จ.สุพรรณบุรี จะประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี ระหว่างเดือนกันยายน ถึง ธันวาคม ซึ่งทางสำนักงานการ ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้เตรียมวางแผนแก้ไขทั้งระบบโดยทำคันกั้นน้ำครอบคลุมพื้นที่ นอกจากนี้ ยังพบ ปัญหาในเรื่องของพื้นที่นิคมที่ไม่ติดต่อกันส่งผลต่อการขาดแคลนน้ำและปัญหาการปลอมปนพันธ์ข้าวในนิคมข้าว จ.ร้อยเอ็ด และปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้ง ในนิคมมันสำปะหลัง จ.จันทบุรี เป็นต้น ทั้งนี้ ทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้แจ้งปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าดำเนินการแก้ไขแล้ว เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ และขับเคลื่อนโครงการฯ ได้เป็นไปตามเป้าหมาย ในการเตรียมขยายผลต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--