ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Tuesday October 19, 2010 14:35 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดสุกรในสัปดาห์นี้ค่อนข้างซบเซา ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ลดลงเมื่อเทียบสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณสุกรที่ออกสู่ตลาดมีมาก ในขณะที่อยู่ในช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ เกิดภาวะฝนตกและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง แนวโน้มคาดว่าราคาจะลดลง

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 57.64 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 58.93 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 2.19 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 54.62 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 59.66 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 57.04 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 62.45 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,600 บาท (บวกลบ 55 บาท) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 51.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 52.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.90 และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 60.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 61.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.63

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดไก่เนื้อสัปดาห์นี้ค่อนข้างซบเซา ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงต้นปีราคาไก่เนื้อมีชีวิตปรับตัวสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการเลี้ยงไก่บางรายได้ขยายกำลังการผลิต ประกอบกับเกิดภาวะค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้ผู้ส่งออกไม่กล้ารับออเดอร์ในระยะยาวเพราะเสี่ยงต่อการขาดทุน ทำให้ปริมาณไก่เนื้อที่ออกสู่ตลาดในประเทศเริ่มสะสมและมีมากขึ้น ส่งผลให้ราคาไก่เนื้อมีชีวิตในประเทศปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มคาดว่าราคาจะปรับตัวลดลงอีกเล็กน้อย

สถานการณ์ในประเทศ

นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยถึงสถานการณ์ราคาไก่มีชีวิตขณะนี้ได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง บางพื้นที่ขายได้ไม่ถึงกิโลกรัมละ 30 บาท จากช่วงต้นปีราคาสูงมากถึงกิโลกรัมละ 48 บาท หลังจากนั้นได้ปรับลดลงโดยตลอดมาอยู่ที่กิโลกรัม 42-43 บาท จากต้นทุนกิโลกรัมละ 33 บาท ทั้งนี้สาเหตุที่ราคาลดลง เนื่องจากปีก่อนส่งออกสูงถึง 3.9 แสนตัน ส่งผลให้เกษตรกรไทยปรับปรุงระบบการเลี้ยงเพิ่มกำลังการผลิตจากวันละ 15 ล้านตัวเป็นวันละ 17-18 ล้านตัว แม้ความต้องการไก่ของโลกจะมีมากขึ้น แต่เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมาก ขณะที่เงินบาทแข็งค่ามากทำให้ผู้ส่งออกไม่กล้ารับออเดอร์ในระยะยาวเพราะเสี่ยงขาดทุน ผลผลิตเนื้อไก่ส่วนใหญ่จึงต้องขายตลาดในประเทศ ลดราคาแข่งขันกับไก่ของเกษตรกรรายย่อยในตลาดระดับล่าง ประกอบกับในช่วงนี้มีเทศกาลกินเจ ปิดเทอม และเข้าพรรษา อัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ในประเทศปรับตัวลดลง ทำให้ราคาไก่เนื้อมีชีวิตตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิต อย่างไรก็ตามหลังจากผ่านช่วงเทศกาลต่างๆ คาดว่าราคาจะขยับสูงขึ้นเล็กน้อย แต่จะอยู่ในระดับไม่ถึงกิโลกรัมละ 40 บาท เนื่องจากราคาไก่ในประเทศที่ตกต่ำนั้น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า ส่วนการส่งออกปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คือ 3.9 แสนตัน เพราะไก่เมื่อผลิตออกมาจะต้องหาช่องทางผลักดันส่งออกให้ได้เพื่อไม่ให้มีสต็อกค้าง แต่มูลค่าจะปรับลดลงอย่างแน่นอน ผู้ประกอบการบางรายได้เริ่มปรับตัว โดยการผลิตลูกไก่น้อยลงแล้วเพื่อลดปริมาณไก่เนื้อ แต่กลุ่มเกษตรกรรายย่อยและลูกเล้า จะได้รับกระทบจากเรื่องนี้อย่างชัดเจนในปีหน้าซึ่งบางรายอาจต้องขาดทุน

สถานการณ์ต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2553 ไต้หวันได้รายงานไปที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ว่าพบฟาร์มสัตว์แห่งหนึ่งในเมือง Fang Yaun จังหวัด Chang Hua ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของไต้หวันติดเชื้อโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรงต่ำ ชนิด LPAI ในวันที่ 29 กันยายน 2553 โดยพบแม่ไก่ 18,000 ตัว และสัตว์ปีก 20 ตัวติดเชื้อนี้ ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวได้ถูกห้ามดำเนินการเคลื่อนย้ายสัตว์แล้ว ส่วนการตรวจสอบมาที่มาของเชื้อนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 41.70 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 42.04 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.81 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 38.52 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 45.48 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 40.00บาท และภาคใต้ไม่มีรายงาน ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 14.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 35.50 บาท และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 47.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ภาวะตลาดไข่ไก่ในสัปดาห์นี้ ราคาเกษตรกรขายได้ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากยังอยู่ในช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ ประกอบกับสถานศึกษาต่างๆ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไข่ไก่ปิดภาคเรียน ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตไข่ไก่ที่ออกสู่ตลาดสะสมและมีมากขึ้น แนวโน้มคาดว่าราคาจะปรับตัวลดลง

มติ ครม.เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2553 มีมติเห็นชอบมาตรการรองรับผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาด ซึ่งเป็นผลจากการเข้าพบขององค์กรและเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ทั้งนี้ ครม.จึงมีมติ โดยมาตรการระยะสั้นให้รณรงค์เพิ่มการบริโภคไข่ไก่ และขอความร่วมมือจากหน่วยราชการ ได้แก่ กรมราชทัณฑ์รับซื้อไข่ไก่ช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ กระทรวงกลาโหม โรงพยาบาล รับซื้อไข่ไก่เพิ่มขึ้น กระทรวงศึกษาธิการ ทำโครงการไข่ไก่โรงเรียน และกระทรวงสาธารณสุข ทำโครงการรณรงค์ เรื่องคุณประโยชน์โภชนาการของไข่ไก่ ส่วนมาตรการระยะยาว ทำโครงการประชาสัมพันธ์รณรงค์ส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่ โดยคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ ตั้งคณะทำงานรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม มาตรการระยะสั้น เรื่องขอให้ยกเลิกมาตรการชะลอการส่งออกไข่ไก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นว่าอาจส่งผลกระทบในหลายด้าน ดังนั้นเห็นสมควรพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม โดยเห็นควรดำเนินการในเรื่องของการขอความร่วมมือหน่วยราชการและการทำโครงการประชาสัมพันธ์รณรงค์ส่งเสริมการบริโภคก่อน ส่วนมาตรการชะลอการส่งออกไข่ไก่เห็นควรให้ดำเนินการในระยะต่อไป

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 267 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 269 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.74 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 259 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 260 บาท ภาคกลางร้อยฟอง 260 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 294 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 28.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 275 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 285 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 3.51

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 296 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 297 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.34 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 268 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 317 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 281 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 327 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 340 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 43.22 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 43.49 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.62 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 47.66 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 34.72 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 50.74 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 47.28 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 33.23 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 33.97 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.18 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 48.60 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 30.23 บาท ภาคกลาง 32.69 บาท ภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 11 — 17 ต.ค. 2553--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ