ไทยร่วมรับรองปฏิญญานิอิกาตะในที่ประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 1

ข่าวทั่วไป Tuesday October 26, 2010 13:41 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

รมว.กษ. เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 1เพื่อร่วมรับรองปฏิญญานิอิกาตะว่าด้วยความมั่นคงอาหารและแผนปฏิบัติการความมั่นคงเอเปค เผย ไทยได้บรรจุ 7 โครงการไว้ในแผนปฏิบัติการ เน้นพัฒนาศักยภาพด้านการผลิต และสร้างศักยภาพความมั่นคงอาหาร คาด โครงการต่างๆ จะเริ่มดำเนินการในช่วงปี 2010-2015

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 1 (The 1st APEC Ministerial Meeting on Food Security) เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ณ เมืองนิอิกาตะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายธีระ วงศ์สมุทร) ในฐานะตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วม โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปคดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันแก้ไขถ้อยคำของปฏิญญานิอิกาตะว่าด้วยความมั่นคงอาหารเอเปค โดยไทยได้ยืนยันการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจะต้องปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และใช้ได้อย่างยั่งยืน พร้อมนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้นำเสนอแผนปฏิบัติการความมั่นคงอาหารเอเปคแนบท้ายปฏิญญาฯ เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงด้านอาหารของสมาชิกเอเปค

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปคครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรและอาหารครั้งแรกของเอเปค ประกอบด้วยรัฐมนตรีและผู้แทนจากสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี สาธารณรัฐประชาชนจีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม โดยที่ประชุมได้ร่วมกันรับรองปฏิญญานิอิกาตะว่าด้วยความมั่นคงอาหารเอเปคและแผนปฏิบัติการความมั่นคงอาหารเอเปค ซึ่งปฏิญญาฯ ประกอบด้วย 2 เป้าหมายร่วม คือ เป้าหมายร่วมที่ 1 การพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน เป็นการให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงด้านอาหารโดยการเพิ่มปริมาณอาหารในภูมิภาค และเป้าหมายร่วมที่ 2 การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน การค้าและการตลาด อันเป็นการแสดงความมุ่งมั่นในการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนภาคเกษตร การค้าอาหาร และการสร้างเสริมความเชื่อมั่นในตลาดสินค้าเกษตร

เลขาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนปฏิบัติการความมั่นคงอาหารเอเปคแนบท้ายปฏิญญาฯ ซึ่งเสนอโดยสมาชิกเอเปค ประกอบไปด้วยโครงการทั้งหมด 62 โครงการนั้น ไทยได้บรรจุโครงการไว้ในแผนปฏิบัติการความมั่นคงอาหารเอเปคแนบท้ายปฏิญญาฯ จำนวน 7 โครงการ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตอาหาร การผลิตพลังงานชีวภาพรุ่นที่สอง การปรับปรุงความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสมาชิกเอเปคในเรื่องการสร้างศักยภาพความมั่นคงอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้ โครงการต่างๆ ดังกล่าว จะมีระยะเวลาการดำเนินการในช่วงปี 2010-2015

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ