สศก. ร่วมถก โต๊ะประชุม CFS ครั้งที่ 36 เร่งสร้างความมั่นคงด้านอาหาร

ข่าวทั่วไป Thursday October 28, 2010 13:52 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมประชุมคณะกรรมการความมั่นคงอาหารของโลก (CFS) ครั้งที่ 36 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี เพื่อเรียกร้องให้เร่งดำเนินการในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านอาหาร โดยแถลงต่อที่ประชุมให้ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา เร่งดำเนินการสร้างขีดความสามารถของประเทศ เพื่อให้การลงทุนเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงประชุมคณะกรรมการความมั่นคงอาหารของโลก หรือ CFS (Committee on Food Security) ครั้งที่ 36 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ 11-16 ตุลาคม 2553 โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยประเทศสมาชิก 126 ประเทศ หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ 11 องค์กร องค์กรพัฒนาเอกชน (Non-government Organization: NGO) 47 องค์กร และผู้สังเกตการณ์จากองค์กรรัฐบาลและ NGO 15 องค์กร ซึ่งวัตถุประสงค์ของการประชุมเพื่อเรียกร้องให้เร่งดำเนินการในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ เช่น การถือครองที่ดิน การลงทุนระหว่างประเทศในสาขาเกษตร ความผันผวนของราคาอาหาร และความไม่มั่นคงด้านอาหารในประเทศที่เกิดวิกฤติยืดเยื้อ ทั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ทั้งจากองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และองค์กรภาคประชาสังคม (Civil Society Organizations: CSO) ในฐานะที่มีบทบาทสำคัญในการติดต่อประสานโดยตรงกับผู้อดอยากหิวโหยและคนยากจน ซึ่งทำให้ทราบถึงข้อมูลและสถานการณ์ที่เป็นจริงและเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานของคณะกรรมการฯ ต่อไป

ในการนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้แสดงความเห็นต่อที่ประชุมถึงกระบวนการจัดทำ The Voluntary Guidelines on Responsible Governance of Tenure of Land and Other Resources และ Responsible Agricultural Investment โดยเน้นย้ำให้ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ที่ยังขาดความพร้อม การจัดการภายในประเทศ ทั้งกฎหมาย/กฎระเบียบ การติดตามและประเมินผล ว่า ควรเร่งดำเนินการสร้างขีดความสามารถของประเทศ เพื่อให้การลงทุนเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงตัวอย่างการดำเนินงานของประเทศไทยในการปรับปรุงกลไกการครอบครองที่ดิน เพื่อปกป้องการสูญเสียที่ดินและเพิ่มโอกาสแก่เกษตรกรในการมีที่ดิน ทำกินควบคู่กับการดูแลการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้ประเทศในระยะยาว เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม และ พ.ร.บ. โฉนดชุมชน เลขาธิการ กล่าวในที่สุด

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ