ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวทั่วไป Monday November 1, 2010 15:14 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

(๑) ข้าวนาปี ปี 2553/54 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดคะเน ณ เดือนกันยายน 2553 ว่ามีพื้นที่ปลูก 57.044 ล้านไร่ ผลผลิต 22.936 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 402 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2552/53 พื้นที่ปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ลดลงร้อยละ 0.79 ร้อยละ 1.36 และร้อยละ 0.50 ตามลำดับ พื้นที่ปลูกลดลงเนื่องจากฤดูฝนมาล่าช้าและภาวะแห้งแล้งค่อนข้างรุนแรงในช่วงต้นฤดูเพาะปลูก น้ำต้นทุนตามธรรมชาติ และปริมาณน้ำเขื่อนลดลงมาก โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ส่วนผลผลิตต่อไร่ลดลงเนื่องจากกระทบแล้งในช่วงต้นฤดูเพาะปลูกและการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในภาคกลาง ส่งผลให้ผลผลิตรวมลดลง

สถานการณ์น้ำท่วม คาด ณ 22 ตุลาคม 2553 ว่าผลผลิตข้าวเสียหาย 0.267 ล้านตัน คงเหลือ 22.670 ล้านตัน ผลผลิตลดลงจากที่คาดการณ์ ณ เดือนกันยายน 2553 ร้อยละ 1.16 และลดลงจากปี 2552/53 ร้อยละ 2.51

เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี ปี 2553/54 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553 และคาดว่าจะเก็บเกี่ยวในเดือนตุลาคม 2553 ประมาณ 1.49 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 6.56 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด สำหรับเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2553 ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากและกระจุกตัว ประมาณ 17.44 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 76.94 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

1.2 การตลาด

มติ ครม. เมื่อวันที่ 14 ก.ย. เห็นชอบการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 รอบที่ 1 ดังนี้

1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 (รอบ 1)

             การขึ้นทะเบียนเกษตรกร 1 มิ.ย.    — 30 พ.ย. 53   ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 16 ก.ค.    - 31 มี.ค.54
             การประชาคม        16 มิ.ย.    — 15 ธ.ค. 53   ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร)  1 ส.ค. 53 — 15 เม.ย.54
             ออกใบรับรอง        16 มิ.ย.    — 31 ธ.ค. 53   ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร)  1 ส.ค. 53 — 30 เม.ย.54

ทำสัญญาประกันรายได้ 1 ก.ค. 53 — 31 ม.ค. 54 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 16 ส.ค. 53 — 31 พ.ค.54

ระยะเวลาใช้สิทธิ 1 ส.ค. 53 - 15 มี.ค. 54 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 16 ก.ย. 53 — 15 ก.ค.54

ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้

                    - ข้าวเปลือกหอมมะลิ   ตันละ 15,300 บาท        ไม่เกิน  14 ตัน / ครัวเรือน
                    - ข้าวเปลือกหอมจังหวัด ตันละ 14,300 บาท        ไม่เกิน  16 ตัน / ครัวเรือน
                    - ข้าวเปลือกเจ้าตันละ  ตันละ 10,000 บาท        ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
                    - ข้าวเปลือกปทุมธานี1  ตันละ 11,000 บาท        ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
                    - ข้าวเปลือกเหนียว    ตันละ  9,500 บาท        ไม่เกิน  16 ตัน / ครัว

2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ2)

  • คงเหลือเฉพาะการใช้สิทธิของเกษตรกรภาคใต้ ไม่เกินวันที่ 15 ธ.ค. 53 * โดยเกษตรกรสามารถเลือกวันใช้สิทธิได้นับตั้งแต่วันเก็บเกี่ยว และหากเกษตรกรต้องการเปลี่ยนแปลงวันใช้สิทธิ จะต้องแจ้ง

ธ.ก.ส. ล่วงหน้าก่อนวันขอใช้สิทธิใหม่อย่างน้อย 3 วัน ทั้งนี้วันขอใช้สิทธิใหม่จะต้องไม่ย้อนหลังจากวันที่แจ้ง

หมายเหตุ : * มติ กขช. ครั้งที่ 9/2553 (10 มิ.ย. 53) เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิของเกษตรกร โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ2)

  • ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
                    - ข้าวเปลือกปทุมธานี 1        ตันละ 11,000 บาท             ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
                    - ข้าวเปลือกเจ้า             ตันละ 10,000 บาท             ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
                    - ข้าวเปลือกเหนียว           ตันละ  9,500 บาท             ไม่เกิน  16 ตัน / ครัวเรือน

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้ ราคาข้าวทรงตัวในทุกตลาดทั้งตลาดข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ ราคาขายส่งตลาดกรุงเทพฯ และราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี. เนื่องจากการซื้อขายมีน้อย และไม่สะดวกเพราะปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ และภาคกลาง ประกอบกับมีมรสุมเรือเข้ามาน้อย ส่วนข้าว กข.15 ขณะที่ภาคเหนือ เช่น ลำปาง แพร่ พะเยา ผลผลิตข้าวเริ่มออกสู่ตลาดบางแล้ว ส่งผลให้ราคาเกษตรกรขายได้ของข้าวหอมมะลิลดลงเล็กน้อย

การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 22 ตุลาคม 2553 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 6.786 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 7.035 ล้านตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.54 (ที่มา: กรมการค้าภายใน)

1.2 ราคา

ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,794 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,156 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.56

ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,132 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,121 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.13

ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,441 บาท ราคาลดลงจากตันละ 16,493 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 6.38

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาส่งออก เอฟ.โอ. บี

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,145 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ (33,985 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 41 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 866 ดอลลาร์สหรัฐฯ (25,704 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 31 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 493 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,633 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 18 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 462 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,713 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 17 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 547 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,236 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 17 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 29.6815 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

2.1 เวียดนามจะจัดการประชุมข้าวระหว่างประเทศ

จากสภาวะความกดดันในการผลิตอาหารของโลก อันเนื่องมาจากปัญหาความยากจนและความเปลี่ยนแปลงในสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการเพิ่มผลผลิตข้าวให้เพียงพอในการเลี้ยงประชากรโลก

เวียดนามโดยกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทร่วมมือกับสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) และ Bangkok-based Asia Congress Events Co. จะจัดการประชุมข้าวระหว่างประเทศครั้งที่ 3 ในเดือน พ.ย. 2553 นี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการหากลยุทธ์ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเพื่อให้เพียงพอต่อประชากรของโลกที่กำลังเพิ่มขึ้น โดยจะมีการรวมตัวของผู้นำทางด้านวิทยาศาสตร์ ผู้จัดทำนโยบาย ผู้ค้า ภาคเอกชน และภาครัฐ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในการประชุมที่จะมีขึ้นจะมีการเจรจากันในประเด็นงานวิจัยข้าวล่าสุด เทคโนโลยีในอนาคต การค้า และนโยบาย ซึ่งจะนำมากำหนดบทบาทของข้าวในอนาคต ซึ่งผู้ผลิตข้าวจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการป้องกันความขาดแคลนอาหารในอนาคต

2.2 ยกเลิกภาษีศุลกากรอาจส่งผลการนำเข้าข้าวญี่ปุ่นพุ่ง 11 เท่า

แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่สามารถเพาะปลูกข้าวได้เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ แต่หากมีการยกเลิกภาษีศุลกากรการนำเข้า (341 เยน/กก. หรือ 4.2 เหรียญสหรัฐฯ/กก.) ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี การนำเข้าข้าวญี่ปุ่นอาจพุ่งขึ้น 11 เท่า จาก 0.77 ล้านตัน/ปี โดยอาจมีการสั่งซื้อเพิ่มจากต่างประเทศประมาณ 7.6 ล้านตัน/ปี

นาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอาจจะประกาศร่วมมือในความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership Agreement) กับประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และเวียดนามในการประชุมสุดยอดเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation Forum) เดือนหน้า ซึ่งสมาชิกสภารวมถึงรัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวว่า การเข้าร่วมความตกลงจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการผลิตเกษตรในประเทศ เว้นแต่จะมีการยกเลิกภาษีศุลกากรสินค้าเกษตรหลักและข้าว

กระทรวงเกษตรญี่ปุ่นได้ประเมินว่า หากมีการยกเลิกภาษีศุลกากร ญี่ปุ่นจะมีการนำเข้าข้าวสาลีแทนการผลิตในประเทศประมาณ 679,000 ตัน หรือร้อยละ 90 รวมทั้งการนำเข้าน้ำตาลและเนื้อวัวทดแทนการผลิตในประเทศประมาณ 869,000 และ 272,000 ตัน ตามลำดับ

อนึ่ง ภายใต้กรอบความร่วมมือองค์การการค้าโลก (WTO) ในการเจรจารอบอุรุกวัย (Uruguay Round) ในปี 2536 ญี่ปุ่นได้กำหนดปริมาณการเปิดตลาดสินค้าข้าวขั้นต่ำไว้ที่ 770,000 ตัน/ปี โดยเริ่มนำเข้าข้าวภายใต้กรอบ WTO เมื่อเดือนเมษายน ปี 2538 โดยรวมการนำเข้า 15 ปีย้อนหลังจำนวนทั้งสิ้น 10.12 ล้านตัน ทั้งนี้ ปริมาณข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศคงเหลือในคลังเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ประมาณ 970,000 ตัน ลดลงจาก 1.11 ล้านตันจากปีก่อนหน้า

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 25 - 31 ต.ค. 2553--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ