1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
เรือคราดหอยรุกพื้นที่อนุรักษ์
การเก็บหอยแครงของคนในตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ยังใช้วิธีแบบโบราณด้วยการเก็บด้วยมือในช่วงน้ำทะเลแห้งก็จะถีบกระดานออกไปเก็บหอยแครงกลางทะเลโคลน และเลือกเอาเฉพาะตัวไม่ต่ำกว่า 6 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นหอยขนาดใหญ่ ปล่อยหอยแครงขนาดเล็กเอาไว้เพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นคือในช่วงน้ำขึ้นจะมีเรือคราดหอยซึ่งเป็นการทำประมงเชิงพาณิชย์เข้ามาลักลอบคราดหอย สำหรับเรือคราดหอยต่างถิ่นที่เข้ามาในพื้นที่ ส่วนใหญ่มาจาก จ.สมุทรปราการ จะเข้ามาใช้เครื่องมือในช่วงน้ำขึ้นโดยเฉพาะเวลากลางคืน ด้วยพื้นที่อนุรักษ์กว้างถึง 27 ตารางกิโลเมตร ทำให้คนในท้องถิ่นถือเป็นภารกิจร่วมในการเฝ้าระวังด้วยการร่วมออกตรวจและระมัดระวังไม่ให้เรือคราดหอยเข้ามา เพราะหากไม่อนุรักษ์หอยแครงก็จะหมดไป เรือคราดเหล่านี้จะทำให้ระบบนิเวศเสีย เพราะจะพลิกหน้าดินไปกลบหอยตัวเล็ก ส่งผลกระทบทำให้หอยแครงตายในที่สุด
ในรอบสัปดาห์ผ่านมา(27 ก.ย.—3 ต.ค. 2553) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,006.54 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 515.99 ตัน สัตว์น้ำจืด 490.55 ตัน ประกอบด้วยสัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 2.35 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 4.01 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 106.65 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 14.22 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 58.02 ตัน
การตลาด
อินเดียเพิ่มผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมผลักดันการส่งออก
นาย Anwar Hashim อธิบดีของสมาคมผู้ส่งออกอาหารทะเลอินเดีย(SEAI) คาดว่า ขณะนี้มีปริมาณกุ้งขาวแวนนาไมกว่า 20,000 ตันจะส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ สำนักงานพัฒนาสินค้าอาหารทะเลส่งออก(MPEDA)ระบุว่า การส่งออกในช่วงเดือนเมษายน — กรกฎาคม 2553 เพิ่มขึ้น23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 โดยมีปริมาณการส่งออกของปี 2552-2553 คิดเป็น 663,603 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 2,105.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อินเดียผลิตกุ้งกุลาดำเป็นหลัก มีกำลังการผลิตและแปรรูปเพียง 30% ส่วนคู่แข่งด้านการส่งออกในเอเชีย เช่น ไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ได้เปลี่ยนไปผลิตกุ้งชนิดอื่น เนื่องจากกุ้งกุลาดำมีต้นทุนการผลิตที่สูง แต่ให้ผลผลิตต่ำกว่ากุ้งขาวแวนนาไม โดยต้นทุนการผลิตกุ้งขาวแวนนาไมอยู่ที่ 2.29 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัมครึ่งหนึ่งของต้นทุนการผลิตกุ้งอินเดียชนิดอื่น นาย Anwar Hashim กล่าวเพิ่มเติมว่า การซื้อกุ้งจากประเทศในกลุ่มเอเชียใต้ รวมไปถึงจีนยังคงมีอยู่ โดยจีนถือเป็นแหล่งตลาดส่งออกกุ้งที่อินเดียจะให้ความสำคัญเป็นหลัก ในช่วงปี 2552-2553 จีนมีมูลค่าการส่งออก 23% ของปริมาณการส่งออกกุ้งของอินเดีย ตามมาด้วยประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 14.61% ซึ่งสมาคมผู้ส่งออกอาหารทะเลอินเดียระบุว่า การเพิ่มผลผลิตและการส่งออกกุ้งขาวแวนนาไมจะช่วยให้ตัวเลขการส่งออกเป็นที่น่าพอใจในช่วงที่มีวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเป็นผลมาจากปริมาณความต้องการกุ้งชนิดอื่นของเอเซียและการฟื้นตัวของตลาดสหรัฐฯ
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 43.39 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 42.11 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.28 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคา
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 58.39 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 58.54 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.15 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 120.00 บาท ลดลงจาก กิโลกรัมละ 130.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 10.00 บาท
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 121.98 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 125.22 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 3.24 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 120.00 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 123.75 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 3.75 บาท
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 61.90 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 61.68 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.22 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 70.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 136.43 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 130.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 6.43 บาท
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.46 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 8.27 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.19 บาท
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 30 ต.ค.-5 พ.ย. 2553) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 24.10 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 24.79 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.69 บาท
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 1 - 7 พ.ย. 2553--