สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เดินสาย 3จังหวัดภาคใต้ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางการเปิดตลาดนำเข้าน้ำมันปาล์มภายกรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็น ประเด็นปัญหา ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันไปยังรัฐบาลในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบต่อไป
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง แนวทางการเปิดตลาดนำเข้าน้ำมันปาล์มภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการเสนอแนวทางการเปิดตลาดนำเข้าสินค้าน้ำมันปาล์มภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และจัดทำมาตรการลดผลกระทบของการเปิดตลาดที่จะเกิดขึ้นกับผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ประกอบกับคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) มีมติการประชุมครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2553 มอบหมายให้ประสานงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเกษตรกรเพื่อระดมความคิดเห็น ประเด็นปัญหา และความต้องการของแต่ละภาคส่วนเพื่อนำไปประกอบกำหนดแนวทางการเปิดตลาดนำเข้าน้ำมันปาล์ม
สำหรับปาล์มน้ำมัน นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนชื้น ดังนั้น ปาล์มน้ำมันจึงเจริญเติบโตได้ดีในภาคใต้ของประเทศ ซึ่งจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด คือ กระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร สตูล และตรัง เนื่องจากผลตอบแทนการปลูกปาล์มน้ำมันทำใหมีผลตอบแทนสูง ประกอบกับกระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อทดแทนพลังงาน จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น จากพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 3.89 ล้านไร่ ในปี 2552 เพิ่มเป็น 4.15 ล้านไร่ ในปี 2553 โดยคาดว่าจะเพิ่มเป็น 4.50 ล้านไร่ในปี 2554
ด้านผลผลิตน้ำมันปาล์มส่วนใหญ่จะใช้บริโภคภายในเป็นหลัก ส่วนการนำเข้ารัฐบาลได้กำหนดให้เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้าตั้งแต่ปี 2524 เป็นต้นมา โดยจะนำเข้าตามปริมาณที่ขาดแคลนภายในประเทศเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตามข้อผูกพันองค์การการค้าโลก (WTO) และเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ไทยต้องเปิดเสรีนำเข้าน้ำมันปาล์มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามข้อตกลง AFTA ได้กำหนดรูปแบบและวิธีการลดภาษีระหว่างกัน ซึ่งน้ำมันปาล์มในประเทศไทยต้องลดภาษีสินค้านำเข้าเหลือร้อยละ 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2546 และยกเลิกภาษีสินค้าทุกรายการเป็นร้อยละ 0-5 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 พร้อมยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 โดยการปฏิบัติตามพันธะดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยและอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มภายในประเทศทั้งระบบ
ดังนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จึงจัดให้มีการประชุมดังกล่าวขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็น ประเด็นปัญหา และความต้องการ รวมทั้งข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการเป็นแนวทางการเปิดตลาดนำเข้าน้ำมันปาล์มภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และมาตรการลดผลกระทบจากการเปิดตลาด ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวจะจัดทั้งสิ้น 3 ครั้ง ที่จังหวัด ชุมพร กระบี่ และสุราษฎร์ธานี ในวันที่ 22 , 24 และ 26 พฤศจิกายนนี้ ตามลำดับ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จะรวบรวมข้อคิดเห็นประเด็นปัญหา รวมทั้งข้อเสนอแนะต่างๆ ต่อคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันเพื่อผ่านไปยังรัฐบาลในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบให้มีน้อยที่สุดต่ออุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของจังหวัดและประเทศต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--