สศก. ร่วมถกประเด็นท้าทายภาคเกษตรในที่ประชุม BIMSTEC ครั้งที่ 3

ข่าวทั่วไป Tuesday November 30, 2010 13:56 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะผู้แทนไทย ร่วมประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญความร่วมมือด้านการเกษตร BIMSTEC ครั้งที่ 3 ณ ประเทศศรีลังกา ร่วมกับประเทศสมาชิก 7 ประเทศ โดยเป็นผู้ประสานงานหลักในโครงการพัฒนาระบบ GAP จาก 9 โครงการของสาขาเกษตรภายใต้กรอบ BIMSTEC

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในฐานะผู้ประสานงานหลักความร่วมมือสาชาเกษตรในกรอบ BIMSTEC ได้เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญความร่วมมือด้านการเกษตร BIMSTEC ครั้งที่ 3 (The Third Expert Group Meeting of BIMSTEC on Agricultural Cooperation) เมื่อวันที่ 22-23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ ประเทศศรีลังกา โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก BIMSTEC เข้าร่วมประชุมครบทั้ง 7 ประเทศ

สำหรับ BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) นับเป็นกรอบความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจในภูมิภาคอ่าวเบงกอล โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และการให้ความช่วยเหลือระหว่างกัน ซึ่งปัจจุบันมีความร่วมมือภายใต้กรอบ BIMSTEC ทั้งหมด 14 สาขา โดยภายใต้ความร่วมมือของสาขาเกษตรได้มีการตกลงกันที่จะทำความร่วมมือรวม 9 โครงการ และได้มีการกำหนดประเทศผู้ประสานงานหลัก (Coordinating Country) ทั้ง 9 โครงการ คือ ประเทศไทยประสานงานโครงการพัฒนาระบบ GAP ( Developing Good Agricultural Practices in BIMSTEC member countries) บังคลาเทศประสานงานโครงการเสริมสร้างระบบเครือข่ายข้อมูลความมั่นคงด้านอาหาร ภูฏานประสานงานโครงการการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการค้าและการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน และพม่าเป็นผู้ประสานงานโครงการความร่วมมือในงานวิจัยและพัฒนาพืชพลังงานทดแทน และโครงการการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร

ในส่วนโครงการที่เหลืออีก 4 โครงการจะมีประเทศอินเดียเป็นผู้ประสานงาน ได้แก่ โครงการป้องกันและควบคุมโรคสัตว์ข้ามแดน โครงการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและวิจัย โครงการการพัฒนาเทคโนโลยีทางชีวภาพทางการเกษตร และโครงการการพัฒนาปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ ซึ่งที่ประชุมขอให้ประเทศสมาชิกเร่งผลักดันให้มีการดำเนินโครงการอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะโครงการที่มีความสำคัญและตอบสนองสถานการณ์ปัจจุบัน โดยใช้งบประมาณของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทย เป็นผู้ประสานงานหลักโครงการ GAP ได้กำหนดจัด workshop เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้าน GAP ระหว่างประเทศสมาชิก BIMSTEC ในปี 2554 ซึ่งหลายประเทศได้ให้ความสนใจโครงการดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการของบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) กระทรวงการต่างประเทศ

นายอภิชาต กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้กล่าวถึงประเด็นท้าทายภาคเกษตร โดยได้มีการหยิบยกในประเด็นหลักๆ หลายประเด็นด้วยกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ความมั่นคงอาหาร (Food Security) การค้าในยุคโลกาภิวัตน์ (globalization of Trade) และความยากจนในชนบท (Rural Poverty) ซึ่งนำไปสู่การขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร สำหรับการประชุมครั้งต่อไป ที่ประชุมได้เสนอให้จัดขึ้น ณ ประเทศบังคลาเทศในปี 2554

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ