ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Tuesday December 7, 2010 14:47 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ภาวะตลาดสุกรในสัปดาห์นี้ ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศที่เริ่มเย็นลงทำให้สุกรเจริญเติบโตดี ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรทรงตัว แนวโน้มคาดว่าการบริโภคเนื้อสุกรจะเพิ่มขึ้นและราคาจะปรับตัวสูงขึ้นเพราะเข้าสู่เทศกาลท่องเที่ยว เฉลิมฉลองและมีวันหยุดนักขัตฤกษ์ติดต่อกันหลายวัน คาดว่าราคาจะทรงตัวหรือสูงขึ้นเล็กน้อย

สถานการณ์ในประเทศ

เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก ได้เข้า ตรวจฟาร์มเลี้ยงสุกรของชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 6 ตำบลท่านางงาม อำเภอบางระกำ ซึ่งเป็นพื้นที่แรกพบโรค PRRS (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome) ก่อนจะกระจายไปในหลายพื้นที่ เพื่อให้ความรู้ในการเลี้ยงสุกรแก่ชาวบ้านและฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อภายในฟาร์มทั้งหมด อย่างไรตาม โรค PRRS เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในสุกร โดยเชื้อจะทำลายระบบทางเดินหายใจและระบบสืบพันธุ์ของสัตว์ ส่งผลให้แท้งลูกและลูกหมูที่ได้รับเชื้อป่วยตาย จากรายงานล่าสุดพบว่ามีการระบาดในอำเภอเมือง บางระกำ และวังทอง แต่ประกาศเป็นเขตโรคระบาดเพียง 2 อำเภอ คือ วังทอง และบางระกำ โดยห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์อย่างเด็ดขาด ส่วนแนวทางป้องกันขณะนี้ได้ส่งทีมอาสาสมัคร ปศุสัตว์ตำบลออกสำรวจทุกหมู่บ้านในพื้นที่ 9 อำเภอ เพื่อวางมาตรการป้องกันไม่ให้โรคระบาดเพิ่มขึ้น รวมถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 พบแม่พันธุ์สุกรแท้งลูก สำหรับจำนวนสุกรที่ตายรวมแล้ว 2,254 ตัว คือ ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ 1,323ตัว และ ต.บ้านกร่าง อ.เมือง 931 ตัว

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 56.33 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 57.02 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.21 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 52.89 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 59.90 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 55.94 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 56.68 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,600 บาท (บวกลบ 55 บาท) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 53.50 บาท และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 62.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ภาวะตลาดไก่เนื้อสัปดาห์นี้ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ทรงตัวจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณไก่เนื้อที่ออกสู่ตลาดใกล้เคียงและสอดคล้องกับความต้องการบริโภค แนวโน้มคาดว่าการบริโภคไก่เนื้อจะเพิ่มขึ้นและราคาจะปรับตัวสูงขึ้นเพราะเข้าสู่เทศกาลท่องเที่ยว เฉลิมฉลองและมีวันหยุดนักขัตฤกษ์ติดต่อกันหลายวัน คาดว่าราคาจะทรงตัวหรือสูงขึ้นเล็กน้อย

สถานการณ์ในประเทศ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกอช.) ประสานความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และกรมวิชาการเกษตร เชิญชวนผู้ประกอบการเข้าร่วมพัฒนาระบบการใช้รหัสมาตรฐานสากลแบบ 1D และ 2D บาร์โค้ด บนกล่องบรรจุสินค้าเกษตรและอาหารส่งออก โดยนำร่องในสินค้า 2 ชนิด คือ ไก่และมะม่วง ทั้งนี้เนื่องจากแนวโน้มส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารเริ่มมีการเปิดเสรีมากขึ้น ทำให้บทบาทของมาตรการทางภาษีลดน้อยลง แต่จะมีมาตรการอื่นๆ นำมาใช้เป็นเงื่อนไขทางการค้ามากขึ้น ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ผลักดันให้เกิดการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพมาตรฐานทั้งระบบ มียุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร พ.ศ.2553-2556 โดยรหัสมาตรฐานสากลจะแสดงที่ตั้งแปลงเกษตรแบบ 1D และ 2D บาร์โค้ดบนกล่องสินค้าจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตามสอบถึงแหล่งที่มาหรือแหล่งผลิตสินค้าได้โดยใช้ โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนเรียกดูข้อมูลได้ ระบบดังกล่าวสามารถตรวจสอบแหล่งที่เป็นต้นเหตุของการเกิดปัญหาของสินค้าเกษตรและอาหารได้ทันที ในกรณีที่สินค้ามีปัญหาจะเรียกคืนได้อย่างรวดเร็ว ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยมีศักยภาพเพิ่มขึ้นสำหรับการแข่งขันในเวทีโลก

สถานการณ์ข่าวต่างประเทศ

เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2553 รัฐบาลฮ่องกงเพิ่มระดับเฝ้าระวังภัยไข้หวัดนกเป็นขั้นร้ายแรงเพราะมีความเสี่ยงที่โรคมรณะจะกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง โดยกระทรวงสาธารณสุขฮ่องกง รายงานถึงผลการตรวจเลือดของผู้ป่วยมีเชื้อไข้หวัดสายพันธุ์ H5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หนึ่งของหวัดนก โดยผู้ป่วยเพิ่งกลับจากไปนานกิง เซี่ยงไฮ้และหังโจว เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม- 1 พฤศจิกายน 2553 จากนั้นเข้าโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2553 ด้วยอาการปอดบวม ไอและมีไข้ แพทย์ต้องแยกตัวออกไปรักษาเดี่ยว เจ้าหน้าที่ยังยืนยันไม่ได้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อมาจากจีนหรือไม่ ทั้งนี้ฮ่องกงได้เกิดการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดนกตั้งแต่ปี 2546 หลังจากฮ่องกงเป็นพื้นที่แรกของโลกที่เกิดการระบาดในมนุษย์ เมื่อปี 2540 มีผู้เสียชีวิต 6 ราย และมีการกำจัดสัตว์ปีกเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 41.29 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 38.00 บาท ภาคะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 45.48 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 39.22บาท และภาคใต้ไม่มีรายงาน ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 14.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 38.50 บาท และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 50.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ตลาดไข่ไก่สัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนกระทบต่อสุขภาพแม่ไก่ไข่ทำให้ผลผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดน้อยและใกล้เคียงกับความต้องการบริโภค แนวโน้มคาดว่าการบริโภคไข่ไก่จะเพิ่มขึ้นและราคาจะปรับตัวสูงขึ้นเพราะเข้าสู่เทศกาลท่องเที่ยว เฉลิมฉลองและมีวันหยุดนักขัตฤกษ์ติดต่อกันหลายวัน คาดว่าราคาจะทรงตัวหรือสูงขึ้นเล็กน้อย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 274 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 273 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.37 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 272 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 284 บาท ภาคกลางร้อยฟอง 262 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 301 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 26.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 285 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 298 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 266 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 318 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 284 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 334 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 340 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 44.81 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 43.76 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.40 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 49.10 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 35.96 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 52.26 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 50.03 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 32.74 บาท บาท สูงขึ้นกิโลกรัมละ 32.72 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.06 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 48.60 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 29.57 บาท ภาคกลาง 32.69 บาท ภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 29 พ.ย. — 5 ธ.ค. 2553--

-พห-

แท็ก เกษตรกร   สุกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ