สศข 7 เผยการประเมินผลกระทบน้ำท่วมซ้ำเติมภาคเกษตรจังหวัดชัยนาท ฉุด GPP ลดลง

ข่าวทั่วไป Monday December 13, 2010 14:32 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 คาดการณ์ว่าปัญหาอุทกภัยทำให้ GPP ของจังหวัดชัยนาทหดตัวลง ร้อยละ 2.69 จากที่เคยประมาณการณ์ในไตรมาสที่ 3 ว่า GPP ของจังหวัดชัยนาท ปี 2553 จะลดลงจากปี 2552 ประมาณร้อยละ 7.14 ทำให้ภาพรวม GPP ปี 2553 ของจังหวัดคาดว่าจะลดลงร้อยละ 9.83

นางจันทร์ธิดา มีเดช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 กล่าวว่า ความเสียหายภาคเกษตรกรรมของจังหวัดชัยนาท ปี 2553 ที่เกิดจากอุทกภัยในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำให้สาขาพืชได้รับความเสียหายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผลผลิตข้าวเปลือกนาปีได้รับผลกระทบมาก และผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับความเสียหายค่อนข้างมากจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยสาขาพืชคาดว่าอัตราการขยายตัวจะลดลงอีกร้อยละ 4 จากเดิมที่คาดว่าจะมีผลผลิตข้าวเปลือกนาปีประมาณ 5.95 แสนตัน จากข้อมูลพื้นที่เสียหายจากภาวะน้ำท่วมประมาณ 1 แสนไร่ จะกระทบต่อผลผลิตข้าวเปลือกนาปีคาดว่าลดลง 5.1 หมื่นตัน หรือลดลงร้อยละ 8.5 เหลือเพียง 5.44 แสนตัน ส่วนผลผลิตพืชไร่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมไม่มากนัก ได้แก่ ถั่วเขียว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่วนพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังและอ้อยโรงงาน ที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วม จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554

สำหรับสาขาปศุสัตว์ จากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงไตรมาสที่ 4 ทำให้อัตราการขยายตัวเหลือประมาณร้อยละ 2.46 จากเดิมที่คาดว่า อัตราการขยายตัวจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.55 สาขาประมง คาดว่าเฉลี่ย ทั้งปีลดลงประมาณร้อยละ 6.77 จากปัญหาภัยแล้งในช่วงครึ่งแรกของปี และปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี สาขาบริการทางการเกษตร คาดว่าอัตราการขยายตัวลดลงร้อยละ 1.96 จากเดิมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.52 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ และส่งผลกระทบถึงพื้นที่เก็บเกี่ยวลดลงทำให้การจ้างการเก็บเกี่ยวลดลง ส่งผลให้มูลค่าการบริการทางการเกษตรลดลง ส่วนสาขาป่าไม้ ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมปัญหาจากภัยธรรมชาติ ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปีภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งค่อนข้างรุนแรง รวมทั้งการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังและเพลี้ยกระโดดในนาข้าว สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตทางการเกษตรค่อนข้างมาก

นางจันทร์ธิดา กล่าวเพิ่มเติมว่าการป้องกันและแก้ปัญหาภัยพิบัติต่าง ๆ จะช่วยลดผลกระทบต่อรายได้และการขยายตัวเศรษฐกิจของจังหวัดด้วยการเตรียมการรับมือภัยพิบัติแต่เนิ่น ๆ และมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเตรียมการระมัดระวังเพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายไว้ได้บ้าง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ