สศก. แจงแนวทางการบริหารจัดการน้ำชลประทานใหม่เน้นให้เกษตรกรมีส่วนร่วม

ข่าวทั่วไป Monday December 13, 2010 14:33 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยศูนย์ประเมินผลลงพื้นที่สำรวจการบริหารจัดการน้ำชลประทาน เน้นให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมชลประทานระหว่าง ปี 2545 — 2551 ให้มีส่วนร่วมในพื้นที่ชลประทานขนาดกลางประเภทอ่างเก็บน้ำ 384 กลุ่ม จำนวน 14 แห่งใน 14 จังหวัด โดยให้สมาชิกผู้ใช้น้ำมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำดูแลบำรุงรักษาระบบชลประทาน และเร่งสร้างระบบแพร่กระจายน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ชลประทานทั้งหมด

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ลงพื้นที่ 4 ภาค เพื่อประเมินผลการบริหารจัดการน้ำชลประทาน โดยให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในพื้นที่ชลประทานขนาดกลาง ในปีเพาะปลูก 2552/53 ซึ่งดำเนินการโดยกรมชลประทาน ซึ่งพบว่ากลุ่มบริหารผู้ใช้น้ำชลประทานมีความเข้มแข็งในการบริหารจัดการน้ำชลประทานอยู่ในเกณฑ์ดี โดยผลการประเมินผลพบว่าเกษตรกรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำชลประทานอยู่ในระดับมาก และมีส่วนร่วมในด้านการวางแผนการใช้น้ำ การดูแลรักษาระบบชลประทาน การบริหารงานภายในกลุ่มฯ สามารถลดการขัดแย้งการใช้น้ำ มีการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรตลอดทั้งปี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการใช้ที่ดินสูงขึ้นจากเดิมร้อยละ 107 เป็นร้อยละ 144 ส่วนใหญ่ ปลูกข้าวเป็นหลัก โดยข้าวนาปีมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 431 กก./ไร่ เป็น 450 กก./ไร่ ข้าวนาปรังมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 570 กก./ไร่ เป็น 650 กก./ไร่ ส่งผลให้ให้เกษตรกรมีรายได้เงินสดสุทธิเพิ่มขึ้น จาก 4,149 บาท/ไร่ เป็น7,221บาท/ไร่

นายอภิชาต กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามในการดำเนินงานดังกล่าวยังมีปัญหาอุปสรรคซึ่งควรปรับปรุง เนื่องจากในตอนนี้มีระบบการแพร่กระจายน้ำที่มีเพียง 12 ล้านไร่ จากพื้นที่ชลประทานทั้งหมด 24 ล้านไร่ รวมทั้งปัญหาน้ำต้นทุนที่มีอย่างจำกัดอีกด้วย จึงเห็นควรเร่งสร้างระบบแพร่กระจายน้ำให้ทั่วถึงแปลงเกษตรกร เพื่อให้การกระจายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความเป็นธรรมระหว่างเกษตรกรที่อยู่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรขุดสระน้ำขนาดเล็กไว้ในไร่นา เพื่อจะได้นำน้ำจากโครงการที่เก็บกับไว้มาใช้ในฤดูแล้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่เพาะปลูกในเขตชลประทานต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ