1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การผลิต
ข้าวนาปี ปี 2553/54 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดคะเน ณ เดือน ธ.ค.53 ว่ามีพื้นที่ปลูก 57.044 ล้านไร่ ผลผลิต 22.177 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 389 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2552/53 พื้นที่ปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ลดลงร้อยละ 0.79 , 4.63 และ 3.71 ตามลำดับ พื้นที่ปลูกลดลงเนื่องจากฤดูฝนมาล่าช้า และภาวะแห้งแล้งค่อนข้างรุนแรงในช่วงต้นฤดูเพาะปลูก น้ำต้นทุนตามธรรมชาติ และปริมาณน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ลดลงมาก ส่วนผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากกระทบแล้งในช่วงต้นฤดูเพาะปลูก การเลื่อนการเพาะปลูกข้าวทำให้ข้าวพันธุ์ ไวแสง มีระยะเวลาการเจริญเติบโตทางลำต้นสั้นลง การสะสมอาหารของต้นข้าวลดลง การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และจากอุทกภัยที่ค่อนข้างรุนแรงในทั่วทุกภาคของประเทศในช่วงเดือน ส.ค. - พ.ย. 2553 ซึ่งข้าวอยู่ในช่วงออกดอกและตั้งท้องทำให้ผลผลิตข้าวเสียหายมาก ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตลดลง
ข้าวนาปรัง ปี 2554 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดคะเน ณ เดือน ธ.ค. 53 ว่ามีพื้นที่ปลูก 15.578 ล้านไร่ ผลผลิต 9.516 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 611 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2553 พื้นที่ปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.33 ,7.37 และ 4.98 ตามลำดับ พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำตามธรรมชาติมีปริมาณน้ำมากกว่าปีที่แล้ว ยกเว้นเขื่อนปราณบุรีและเขื่อนแก่งกระจาน ที่มีปริมาณน้ำน้อยงดส่งน้ำเพื่อการเกษตร ประกอบกับแรงจูงใจจากโครงการประกันรายได้ข้าวรอบ 2 และชาวนาบางส่วนปลูกชดเชยข้าวนาปีที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ส่วนผลผลิตต่อไร่และภาพรวมผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในช่วงต้นฤดูแล้งนี้ มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก แต่ต้องระมัดระวังการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่ยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่องในข้าวนาปี และอาจระบาดรุนแรงอีกจากการปลูกข้าวต่อเนื่องทั้งปี
1.2 การตลาด
มติ ครม. เมื่อวันที่ 14 ก.ย. เห็นชอบการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 รอบที่ 1 ดังนี้
1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 (รอบ 1)
- การขึ้นทะเบียนเกษตรกร 1 มิ.ย. — 30 พ.ย. 53 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 16 ก.ค. -31 มี.ค. 54
- การประชาคม 16 มิ.ย. — 15 ธ.ค.53 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 1 ส.ค. 53 — 15 เม.ย. 54
- ออกใบรับรอง 16 มิ.ย. — 31 ธ.ค. 53 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 1 ส.ค. 53 — 30 เม.ย. 54
- ทำสัญญาประกันรายได้ 1 ก.ค. 53 — 31 ม.ค. 54 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 16 ส.ค. 53— 31 พ.ค. 54
- ระยะเวลาใช้สิทธิ 1 ส.ค. 53 - 15 มี.ค. 54 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 16 ก.ย. 53 — 15 ก.ค. 54
- ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,300 บาท ไม่เกิน 14 ตัน / ครัวเรือน ข้าวเปลือกหอมจังหวัด ตันละ 14,300 บาท ไม่เกิน 16 ตัน / ครัวเรือน ข้าวเปลือกเจ้าตันละ ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน ข้าวเปลือกปทุมธานี1 ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,500 บาท ไม่เกิน 16 ตัน / ครัวเรือน
2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ2)
- คงเหลือเฉพาะการใช้สิทธิของเกษตรกรภาคใต้ ไม่เกินวันที่ 15 ธ.ค. 53 * โดยเกษตรกรสามารถเลือกวันใช้สิทธิได้นับตั้งแต่วันเก็บเกี่ยว และหากเกษตรกรต้องการเปลี่ยนแปลงวันใช้สิทธิ จะต้องแจ้ง
ธ.ก.ส. ล่วงหน้าก่อนวันขอใช้สิทธิใหม่อย่างน้อย 3 วัน ทั้งนี้วันขอใช้สิทธิใหม่จะต้องไม่ย้อนหลังจากวันที่แจ้ง
หมายเหตุ : * มติ กขช. ครั้งที่ 9/2553 (10 มิ.ย. 53) เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิของเกษตรกร โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ2)
- ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
- ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,500 บาท ไม่เกิน 16 ตัน / ครัวเรือน
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้ ราคามีแนวโน้มลดลงในทุกตลาดข้าวเนื่องจากความต้องการของตลาดมีน้อยโดยเฉพาะผู้ส่งออกส่วนใหญ่ยังไม่มีคำสั่งซื้อจากลูกค้าในจำนวนมากเข้ามา ประกอบกับพฤติกรรมของผู้นำเข้าเปลี่ยนไปโดยนำเข้าในปริมาณจำนวนน้อย ซึ่งผู้ส่งออกยังมีสต็อกคงเหลือของปีที่ผ่านมา หรือข้าวที่ประมูลจากโกดังกลางของรัฐบาลมากเพียงพอต่อการส่งมอบให้ลูกค้า จึงไม่ออกมารับซื้อข้าวเพื่อเก็บ
สต็อก ดังนั้นข้าวเปลือกที่ออกสู่ตลาดในช่วงเดือนนี้ซึ่งมีปริมาณมาก และมีความชื้นสูงเนื่องจากเกษตรกรใช้
รถเกี่ยวนวด และบางพื้นที่กระทบฝนตกส่งผลให้พ่อค้าโรงสีกดราคาให้ต่ำลง
การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 9 ธันวาคม 2553 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 8.329 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 8.116 ล้านตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.62 (ที่มา: กรมการค้าภายใน)
1.2 ราคา
ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,836 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,969 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.02
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,433 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,478 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.53
ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,003 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,597 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.07
ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,750 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,817 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.45
ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,055 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,470 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,071 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,927 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.49 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 457 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 863 ดอลลาร์สหรัฐฯ (25,743 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 881 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,263 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.04 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 520 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 549 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,366 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 10 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 488 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,557 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 10 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 552 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,455 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 11 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 29.8294 บาท
2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ
2.1 การผลิต
ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนเบื้องต้นว่าผลผลิตข้าวโลกปี 2553/54 ประจำเดือนธันวาคม 2553 ว่าจะมี 452.414 ล้านตันข้าวสาร (677.20 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจาก 441.228 ล้านตันข้าวสาร (660.20 ล้านตันข้าวเปลือก) ของปี 2552/53 ร้อยละ 2.54 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตของประเทศผู้บริโภคและผู้ส่งออกที่สำคัญของโลก เช่น บังคลาเทศ บราซิล กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และ สหรัฐอเมริกา
2.2 การค้าข้าวโลก
บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนบัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2553/54 ณ เดือนธันวาคม 2553 ว่าผลผลิต ปี 2552/53 จะมี 452.414 ล้านตันข้าวสาร(677.20 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.54 การใช้ในประเทศจะมี 452.970 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 3.51 การส่งออก/นำเข้าจะมี 30.280 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.33 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 94.760 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.58
โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล พม่า จีน อินเดีย อุรุกวัย กายานาและสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อิยิปต์ ปากีสถาน อียู และเวียดนาม
สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ โกตดิวัวร์ คิวบา เม็กซิโก อิหร่าน อิรัก จีน ฮ่องกง เวียดนาม ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ โมแซมบิค์ เยเมน อียู และสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บังคลาเทศ บราซิล และฟิลิปปินส์
สำหรับประเทศที่คาดว่าจะมี สต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินเดีย และฟิลิปปินส์
ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต๊อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เวียดนาม และสหรัฐฯ
2.3 กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่น ได้จัดการประมูลข้าวนำเข้าแบบ OMA และ SBS ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ผลการประมูลข้าวนำเข้าแบบ Ordinary Minimum Access (OMA) ครั้งที่ 3/2553
ข้าวที่ชนะประมูลจำนวนทั้งสิ้น 80,000 ตัน จากปริมาณข้าวที่เสนอประมูลทั้งหมด 552,000 ตัน ในจำนวนนี้มีข้าวที่ชนะประมูลจากประเทศไทย 41,000 ตัน (เป็นข้าวเมล็ดยาวทั้งหมด) ข้าวจากสหรัฐอเมริกา 26,000 ตัน และ จากสาธารณรัฐประชาชนจีน 13,000 ตัน (เป็นข้าวสารเมล็ดกลางทั้งหมด) โดยราคาประมูล (ไม่รวมภาษี 5%) เฉลี่ย 59,788 เยนต่อตัน
ผลการประมูลข้าวนำเข้าแบบ Simultaneous Buying and Selling Tender System (SBS) ครั้งที่ 3/2553
ข้าวที่ชนะประมูลจำนวนทั้งสิ้น 4,806 ตัน จากปริมาณข้าวที่เสนอประมูลทั้งหมด 6,712 ตัน โดยข้าวที่ชนะประมูลมาจากประเทศต่างๆ ดังนี้
- สหรัฐอเมริกา มีข้าวชนะประมูลรวม 2,530 ตัน (ข้าวกล้องเมล็ดสั้น324 ตัน และ ข้าวสารหัก 2,206 ตัน)
- ไทย มีข้าวชนะประมูลรวม 1,778 ตัน (ข้าวสารเจ้าเมล็ดยาว 678 ตัน และข้าวสารหัก 1,100 ตัน)
- สาธารณรัฐประชาชนจีน มี ข้าวชนะประมูลรวม 196 ตัน (ข้าวสารเมล็ดสั้นทั้งหมด)
- อิตาลี มีข้าวชนะประมูลรวม 68 ตัน (ข้าวสารเจ้าเมล็ดยาวกลางทั้งหมด)
โดยที่ราคาข้าวทั่วไปทุกชนิด (ไม่รวมภาษี 5%) ราคาเสนอซื้อเฉลี่ยอยู่ที่ 145,469 เยนต่อตัน และราคาเสนอขายเฉลี่ยอยู่ที่ 199,994 เยนต่อตัน ส่วนราคาข้าวสารหัก (ไม่รวมภาษี 5%) ราคาเสนอซื้อเฉลี่ยอยู่ที่ 56,335 เยนต่อตัน และราคาเสนอขายเฉลี่ยอยู่ที่ 94,826 เยนต่อตัน
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 13 — 19 ธ.ค. 2553--