สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 ร่วมกับคณะทำงานบูรณาการแผนปฏิบัติการพัฒนาการด้านเกษตร ภายใต้พื้นที่โครงการบริหารจัดการน้ำใน จ.นครนายก โดยเปิดเวทีพบปะเกษตรกรเพื่อร่วมวิเคราะห์สภาพปัญหา หวังช่วยให้เกษตรกรได้รับน้ำ สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับการผลิตมากที่สุด
นายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 (สศข.6) จังหวัดชลบุรี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่ สศข.6 ได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งในระดับเขตและระดับจังหวัด พร้อมทั้งได้ร่วมดำเนินการจัดทำแผนบูรณาการโครงการประจำปีงบประมาณ 2554 ซึ่งทางจังหวัดนครนายกได้กำหนดพื้นที่ร่วมบูรณาการ 2 โครงการ โดยสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครนายก ในฐานะประธานคณะทำงาน ได้จัดประชุมคณะทำงานระดับจังหวัด เพื่อร่วมปรับแผนการ ในการนี้ สศข. 6 ได้ร่วมทีมในการวิเคราะห์สภาพปัญหาในพื้นที่ ด้านการผลิตทางเกษตร ร่วมกับเกษตรกรเป้าหมาย ในพื้นที่โครงการแก้มลิงลำชวดประเพรี้ยะ-ชวดลาดเคล้า ตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี และโครงการไซฟอนลอดคลองส่งน้ำที่ กม 19+924 ของคลองส่งน้ำสายใหญ่ ตำบลศรีนาวา อำเภอเมือง เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
จากการร่วมกันวิเคราะห์สภาพปัญหาพื้นที่ พบว่าปัญหาในด้านกายภาพของพื้นที่เพาะปลูกข้าวเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกมีข้อจำกัดเชิงกายภาพ ยากต่อการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เหมาะสมสำหรับเกษตรกรทุกราย โดยเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นชาวนา และจากการจัดเวทีเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน ได้ข้อสรุปว่า การรวมกลุ่มของเกษตรกรเป็นงานเร่งด่วนที่จะต้องรีบดำเนินการเป็นลำดับต้น และจะต้องวางแผนการผลิตร่วมกันตั้งแต่การปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับกายภาพของพื้นที่ และระยะเวลาการปลูกในแต่ละพื้นที่ อีกทั้งจะทำให้สามารถบริหารจัดการ ดูแลรักษา และเก็บเกี่ยวได้อย่างเป็นระบบ โดยมีกลุ่มผู้ใช้น้ำเป็นองค์กรประสานระหว่างกลุ่มเกษตรกรผู้ทำนา และหน่วยงานชลประทานที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลระบบน้ำ ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ เกิดดุลยภาพในการบริหารจัดการ
นายพลเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการวิเคราะห์ปัญหาความต้องการของเกษตรกรนั้น แต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องร่วมกันปรับแผนบูรณาการ โดยกำหนดแผนงานโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรอย่างตรงประเด็นที่เกษตรกรต้องการ จะทำให้การดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ และเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่โครงการฯ จะได้รับประโยชน์จากการใช้น้ำอย่างเหมาะสม และมีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อความอยู่ดีมีสุข อย่างยั่งยืน
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--