สศก. ร่วมเวที AMED ชูนโยบายความมั่นคงอาหาร พลังงาน และการพัฒนาเทคโนโลยี

ข่าวทั่วไป Thursday December 23, 2010 13:24 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมประชุม AMED ครั้งที่ 3 ในเวทีย่อยความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก พร้อมชูนโยบาย และหนุนการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูป รวมทั้งการผลิตพลังงานชีวภาพจากชีวมวลอื่นๆ เพื่อลดการแข่งขันการใช้ทรัพยากรการผลิต นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย — ตะวันออกกลาง ครั้งที่ 3 (Third Asia — Middle East Dialogue Ministerial Meeting : AMED) เมื่อวันที่ 15 — 16 ธันวาคม 2553 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเป็นเวทีหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นท้าทายต่างๆ ครอบคลุมทั้งด้าน การเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และสื่อมวลชน เพื่อกระชับความสัมพันธ์และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศสมาชิก AMED 39 ประเทศจากทั้งหมด 49 ประเทศ ซึ่งทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมในเรื่องที่เกี่ยวข้อง 2 หัวข้อย่อย ได้แก่ เรื่องความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

ในการนี้ นางดวงหทัย ด่านวิวัฒน์ รองเลขาธิการ สศก. ในฐานะผู้แทนไทยในเวทีย่อยเรื่องความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานได้นำเสนอนโยบายด้านอาหารและพลังงานของไทย โดยไทยจะให้ความสำคัญในการผลิตอาหารเพื่อการส่งออกอย่างต่อเนื่อง และแสดงความเชื่อมั่นว่า การค้าอาหารที่โปร่งใสและเป็นธรรมจะช่วยสนับสนุนการเข้าถึงอาหารของคนทุกกลุ่ม รวมทั้งได้ชักชวนให้สมาชิก AMED ร่วมมือในเรื่องการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปเพื่อลดการสูญเสียของผลผลิต ซึ่งในส่วนของพลังงานชีวภาพ ไทยได้ให้ความสำคัญเรื่องความสมดุลของพื้นที่เพื่อการผลิตพืชอาหารและพืชพลังงาน รวมทั้งแสวงหาแนวทางในการผลิตพลังงานชีวภาพจากชีวมวลอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารเพื่อลดการแข่งขันการใช้ทรัพยากรการผลิตกับพืชอาหาร นอกจากนี้สมาชิก AMED อื่น ยังมีข้อเสนอต่อที่ประชุม เช่น ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล การสำรองข้าวใน AMED ตลอดจนความร่วมมือด้านพลังงานทดแทน (Alternative Energy) ด้วย

          สำหรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศสมาชิกได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และ Best Practices ในการจัดการกับประเด็นท้าทาย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้แก่ การสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีการปล่อยปริมาณก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ  ซึ่งรวมถึงการพัฒนาพลังงานปรมาณู แต่ทั้งนี้จะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส และให้ความมั่นใจในเรื่องมาตรฐาน ความปลอดภัย และความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรในด้านนี้ นอกจากนี้           ที่ประชุมยังได้เสนอในเรื่อง การจัดการทรัพยากรน้ำ และการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ  การจัดการระบบการขนส่ง การจัดตั้งกลไกระบบการบริหารจัดการ  และการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้งในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัว ทั้งนี้ ความร่วมมือในกรอบ AMED จะเป็นช่องทางในการเจาะตลาดสินค้าการเกษตรและอาหาร ของประเทศในตะวันออกกลางซึ่งมีศักยภาพทางการตลาดสูงและสนับสนุนความร่วมมือด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตร และแปรรูปอาหารระหว่างกัน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ