สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมกับ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แถลงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2553 พบ หดตัวลงเล็กน้อย สาเหตุจากปัญหาภัยธรรมชาติที่ประสบตั้งแต่ต้นปี เผย แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง ร้อยละ 1.4 — 2.4 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งผลผลิตและราคาโดยเฉพาะสาขาการผลิตหลัก
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2553 ซึ่งพบว่าหดตัวลง ร้อยละ 0.9 สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาภัยธรรมชาติที่ภาคเกษตรต้องประสบตั้งแต่ต้นปี โดยเริ่มจากภัยแล้งและแมลงศัตรูพืชระบาดในช่วงต้นปี รวมถึงปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี โดยเมื่อจำแนกเป็นรายสาขา พบว่า สาขาพืช คาดว่า หดตัวลง ร้อยละ 1.7 เนื่องจากผลผลิตพืชสำคัญลดลง ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และการระบาดของแมลงศัตรูพืช ทั้งเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในข้าว และเพลี้ยแป้งสีชมพูในมันสำปะหลัง รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปี ส่วนราคาแม้ว่าสินค้าหลายชนิดยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่พืชหลักอย่างข้าวประสบปัญหาลดลงทั้งผลผลิตและราคา ทำให้ในภาพรวมของสาขาพืชหดตัวลง เช่นเดียวกับสาขาบริการทางการเกษตรที่หดตัวลง ร้อยละ1.7 ขณะที่สาขาป่าไม้หดตัวลง ร้อยละ 0.8 เนื่องจากผลกระทบจากภัยธรรมชาติเช่นกัน ทำให้การผลิตไม้ท่อนและการหาของป่าในพื้นที่ป่าธรรมชาติลดลง
สำหรับสาขาที่ยังขยายตัวได้ คือ สาขาปศุสัตว์และสาขาประมง โดยสาขาปศุสัตว์ คาดว่าขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.5 เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้ผู้ผลิตขยายการผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับไม่มีการการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงในปศุสัตว์ในประเทศไทย ส่วนสาขาประมง คาดว่าขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.2 เนื่องจากความต้องการเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น
ด้านนายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร ในปี 2554 ที่คาดว่าจะขยายตัวในช่วง ร้อยละ 1.4 — 2.4 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งผลผลิตและราคา โดยเฉพาะสาขาการผลิตหลักที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยสาขาพืช คาดว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วง ร้อยละ 1.6 — 2.6 เนื่องจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการขยายการเพาะปลูกตามแรงจูงใจของราคาสินค้า ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากโครงการประกันรายได้ของรัฐในสินค้าเศรษฐกิจสำคัญ ส่วนสาขาปศุสัตว์ คาดว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วง ร้อยละ 0.8 — 1.8 เนื่องจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้ผู้ผลิตขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งการส่งออกคาดว่าจะยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี สำหรับสาขาประมง คาดว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วง ร้อยละ 1.5 — 2.5 เนื่องจากผลผลิตกุ้งเพาะเลี้ยงและประมงทะเลขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนสัตว์น้ำจืดเพาะเลี้ยงยังคงได้รับการส่งเสริมจากกรมประมงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันยังคงเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการเติบโตของสาขาบริการทางการเกษตร ทำให้ขยายตัวได้ไม่มากนัก อยู่ในช่วงร้อยละ 0.1 — 1.1 สำหรับสาขาป่าไม้คาดว่ายังคงมีแนวโน้มลดลงอยู่ในช่วง ร้อยละ (-0.5) — 0.5
อัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร
หน่วย: ร้อยละ
สาขา 2553 2554 ภาคเกษตร -0.9 1.4 — 2.4 พืช -1.7 1.6 — 2.6 ปศุสัตว์ 1.5 0.8 — 1.8 ประมง 1.2 1.5 — 2.5 ป่าไม้ -0.8 (-0.5) — 0.5 บริการทางการเกษตร -1.7 0.1 — 1.1
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--