สศข.4 ร่วมบูรณาการแผนยุทธศาสตร์จังหวัดยโสธร

ข่าวทั่วไป Tuesday January 4, 2011 13:42 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 ขอนแก่น ร่วมกับส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดยโสธร จับมือบูรณาการแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการเกษตรเชิงพื้นที่ เน้นปรับแผนให้สอดรับกับแผนพัฒนาจังหวัด และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งแผนการพัฒนาภาคเกษตรในอนาคต

นายบัณฑิต มงคลวีราพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 จ.ขอนแก่น (สศข.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการเกษตรเชิงพื้นที่จังหวัดยโสธรว่า จังหวัดยโสธรร่วมกับหน่วยงานจากสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จังหวัดยโสธร จัดทำแนวทางการพัฒนาด้านการเกษตรไปสู่การเกษตรปลอดภัย ก้าวไกลสู่เกษตรอินทรีย์ เกษตรกรอยู่อย่างพอเพียงและผาสุก ซึ่งได้แบ่งสินค้าเกษตรออกเป็น 2 กลุ่ม คือ สินค้าเกษตรที่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Mass market) ได้แก่ ข้าวเจ้านาปี มันสำปะหลัง ยางพารา กล้วยน้ำว้า มะละกอ มะพร้าวน้ำหอม และสินค้าเกษตรที่ต้องผลิตให้สอดคล้องกับตลาด (Niche market) ได้แก่ โคเนื้อ ปลานิล ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และแตงโมอินทรีย์

โดยจังหวัดยโสธรต้องการเน้นพัฒนาสินค้า Niche market ทั้ง 4 ชนิด เนื่องจากปริมาณการเลี้ยงโคเนื้อในจังหวัดมีจำนวนมากและขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และความนิยมในการบริโภคของประชาชนในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียงมีมากขึ้น โดยการเลี้ยง จะพัฒนาการเลี้ยงในลักษณะโคขุน ซึ่งปัจจุบันมีการขายโคเนื้อชำแหละในตลาดชุมชนทั่วไปราคากิโลกรัมละ 100-150 บาท แต่ราคาเนื้อโคขุนมีราคาสูงกว่ามากโดยขายได้ในราคา 250 บาท/กิโลกรัม สำหรับปลานิลเป็นปลาที่ตลาดและผู้บริโภคมีความต้องการสูงเช่นกัน ซึ่งปี 2552 จังหวัดยโสธร มีผลผลิตจากการเลี้ยงปลานิลจำนวน 2,037 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ซึ่งยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง ในส่วนของแตงโมซึ่งเป็นผลไม้ประจำจังหวัดที่สำคัญ โดยเฉพาะแตงโมปลอดสารพิษ ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทั้งในจังหวัดยโสธรและต่างจังหวัดซึ่งมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น โดยเกษตรกรเริ่มมีการเพาะปลูกมากขึ้นเพราะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุน สำหรับข้าวถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับ 1 ของจังหวัดยโสธร โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิของจังหวัดยโสธรซึ่งมีพื้นที่ปลูก 814,742 ไร่ ผลผลิต 202,566 ตันข้าวเปลือก มูลค่าผลผลิต 2,930.87 ล้านบาท

ทั้งนี้ จังหวัดยโสธร มีความต้องการที่จะพัฒนาการผลิตเป็นข้าวปลอดสารพิษ/หรือรูปแบบเกษตรอินทรีย์ที่ครบวงจร ซึ่งจะสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าข้าวส่งออกได้มากขึ้น เพื่อสนองต่อตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่พอเพียงและผาสุกโดยการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ทุกหน่วยงานของกระทรวง เกษตรฯ ในจังหวัดยโสธร จะร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์และบูรณาการแนวทางร่วมกันต่อไป นายบัณฑิตกล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ