1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
เลี้ยงหอยหวานเชิงพาณิชย์
ปัจจุบันพบว่า ปริมาณหอยหวานที่จับได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติลดน้อยถอยลงมากและอาจจะ
สูญพันธุ์ไปในอนาคต กรมประมงจึงได้ศึกษา ค้นคว้า วิจัย เพื่อให้สามารถเพาะแพร่กระจายพันธุ์หอยชนิดนี้ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นการช่วยเพิ่มผลผลิตจากธรรมชาติให้มากขึ้น ตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา โดยศูนย์พัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออกได้ทำการทดลองเพาะขยายพันธุ์หอยหวานชนิดบาบิโลเนีย อารีโอลาต้า จนเป็นผลสำเร็จ ลูกพันธุ์ที่ได้ก็นำไปปล่อยลงสู่พื้นน้ำทะเลจังหวัดระยอง อีกส่วนหนึ่งก็นำไปทดลองเลี้ยงให้มีขนาดตามความต้องการของตลาดต่อไป และจากการศึกษาครั้งนี้พบว่า สามารถนำหอยหวานมาเพาะเลี้ยงในบ่อเลี้ยงเชิงพาณิชย์ได้ โดยพื้นที่ที่เหมาะสม ควรเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดทะเล หรือเป็นเกาะอยู่ห่างจากทะเลไม่มากนัก สามารถนำน้ำทะเลมาใช้ได้สะดวกและเพียงพอ ต้นทุนน้ำจะได้ไม่แพงมาก ไม่ควรอยู่ใกล้ปากแม่น้ำหรือลำคลองขนาดใหญ่ที่มีน้ำจืดไหลลงมาจำนวนมากในฤดูฝน เพราะอาจจะเกิดปัญหาความเค็มของน้ำลดลงรวดเร็ว ซึ่งจะมีผลต่ออัตราการตายของหอย บ่อใช้เลี้ยงหอยหวาน ต้องมีระบบการถ่ายเทน้ำได้สะดวก มีระบบให้อากาศในปริมาณที่พอเพียง พื้นก้นบ่อหรือก้นถังควรจัดให้มีทรายรองพื้นภาชนะ เริ่มจากการใช้ทรายละเอียด หากลูกหอยยังมีขนาดเล็ก ปริมาณทรายที่ใช้ไม่จำเป็นต้องมาก ให้ทรายมีความหนาพอท่วมตัวหอยที่เลี้ยงก็เป็นการเพียงพอ บ่อต้องมีพื้นผิวภาชนะที่ราบเรียบ ไม่ขรุขระ ซึ่งอาจเป็นที่สะสมของเชื้อโรคต่างๆ ได้ มีการพรางแสง เพื่อไม่ให้แสงสว่างส่องตัวหอยมาก น้ำที่ใช้เลี้ยงต้องใสสะอาด ไม่มีตะกอนแขวนลอย ขนาดความลึกของน้ำในบ่อ ประมาณ 40 ซม. ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและความหนาแน่นของหอยที่นำมาเลี้ยง ขนาดของลูกหอยหวานที่เหมาะสมจะนำไปเลี้ยงนั้น ควรมีความยาวเปลือก 0.5 ซม. ขึ้นไป อัตราการปล่อยลูกหอยประมาณ 300 — 500 ตัวต่อพื้นที่บ่อ 1 ตารางเมตร การให้อาหารขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารที่จะให้ และขนาดของลูกหอยหวานที่เลี้ยง หากใช้เนื้อปลาควรใช้เนื้อปลาที่มีราคาไม่แพงมาก ควรให้ 2 — 10 % ของน้ำหนักหอยหวานทั้งหมดที่เลี้ยง และควรตรวจสอบการเจริญเติบโตอย่างน้อยเดือนละครั้ง เมื่อได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการก็จับขายได้
ในรอบสัปดาห์ผ่านมา(22 — 28 พ.ย. 2553) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,052.81 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 530.52 ตัน สัตว์น้ำจืด 522.29 ตัน ประกอบด้วยสัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 2.09 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 3.66 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 123.94 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 11.86 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 64.80 ตัน
การตลาด
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 42.90 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 42.44 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.46 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคา
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 57.89 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 57.24 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.65 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 120.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 126.91 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 126.09 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.82 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 135.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 130.83 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 4.17 บาท
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 59.47 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 64.23 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 4.76 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 67.14 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 75.71 บาท ของสัปดาห์ก่อน 8.57 บาท
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 115.71 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 140.71 บาท ของสัปดาห์ก่อน 25.00 บาท
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.84 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 8.63 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.21 บาท
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 25 - 30 ธ.ค. 2553) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 24.10 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 24.67 ของสัปดาห์ก่อน 0.57 บาท
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 27 ธ.ค. 2553 — 2 ม.ค. 2554--