สศก.แจงปัจจัยที่มีผลต่อแรงจูงใจในการประกอบอาชีพเกษตร

ข่าวทั่วไป Tuesday January 18, 2011 13:35 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยถึงผลวิจัยที่มีผลต่อแรงจูงใจในการประกอบอาชีพเกษตร อันจะส่งผลถึงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากจะมีแรงงานผู้สูงอายุในภาคเกษตรที่เพิ่มมากขึ้น และมีการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเกษตรไปสู่แรงงานนอกภาคเกษตร

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยถึงผลการวิจัยในครั้งนี้ได้ศึกษาจากครัวเรือนเกษตรที่มีความพึงพอใจในการประกอบอาชีพแกษตรและพบว่าเป็นครัวเรือนเกษตรที่มีเนื้อที่ถือครองเฉลี่ย 27.12 ไร่ต่อครัวเรือน จากการใช้เครื่องมือเทคนิคการวิเคราะห์ปัจจัย (Factor Analysis) พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อแรงจูงใจในการประกอบอาชีพเกษตรเรียงตามลำดับความสำคัญ ดังนี้ 1) ปัจจัยการพึ่งพาอาศัยแรงงานในฟาร์ม 2) ปัจจัยด้านเศรษฐกิจของครัวเรือน อาทิ รายได้ทางเกษตร 3) ปัจจัยด้านความรู้และประสบการณ์ด้านดิน การผลิตและการตลาด 4) ปัจจัยปริมาณน้ำที่ได้รับเพียงพอในการทำการเกษตร 5) ปัจจัยด้านสภาพทางสังคม อาทิ การเป็นสมาชิกกลุ่มต่างๆ ในท้องที่ซึ่งได้รับผลประโยชน์ตามมา 6) ปัจจัยด้านคุณลักษณะของสมาชิกในครัวเรือน อาทิ อายุ ระดับการศึกษา 7) ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการมีสัมพันธภาพที่ดีในครัวเรือน 8) ปัจจัยด้านการทำอาชีพหลักทางการเกษตร และ 9) ปัจจัยการมีเงินออมในครัวเรือนเกษตร

นายอภิชาต กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หากจะให้ภาคเกษตรยังคงเป็นภาคที่สร้างความมั่นคงด้านอาหารให้ประชากรในประเทศและเป็นรากฐานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และดึงดูดให้คนในภาคเกษตรไม่ออกไปทำงานนอกภาคเกษตร ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความรู้ เงินทุน แหล่งน้ำในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานในการทำการเกษตร นอกจากนี้ ยังต้องปลูกฝังบุตรหลานเกษตรกรให้มีความภูมิใจในการประกอบอาชีพเกษตร จัดสรรเงินทุนให้ผู้ที่สมัครใจเรียนภาคเกาตรในสถานบันศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เยาวชนเกษตรกรรุ่นใหม่มีทัศนคติที่ดีในการประกอบอาชีพในภาคเกษตรต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ