1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
ประกันภัยประมง
ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมงเผยว่า กรมประมงได้พยายามผลักดัน โครงการประกันภัยภาคการประมง(การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมง) เพื่อเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมงที่จะต้องเผชิญกับปัญหาความเสี่ยงต่างๆ ตลอดจนปัญหาของ โรคระบาด ราคาผลผลิตตกต่ำ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนแก่เกษตรกรและชาวประมง ทางกรมประมงจึงร่วมมือกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการประกันภัยเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการทำประกันภัย การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทย กรณีที่ประสบภัยพิบัติโรคระบาดหรือเหตุใดๆ ก็ตามที่ส่งผลให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไม่สำเร็จ และในปี 2553 ก็ได้ร่วมมือกันจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการแนวทางการประกันภัยเรือประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอีกครั้ง เพื่อกำหนดแนวทางและรูปแบบที่เหมาะสมกับการประกันภัยเรือประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยผลจากการสัมมนาครั้งนี้ก็สามารถสรุปแนวทางและรูปแบบที่เหมาะสมในการประกันภัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและเรือประมง ซึ่งแนวทางต่างๆ จะคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร
นายพงศ์พัฒน์ บุญชูวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการประมง กรมประมงกล่าวเพิ่มเติมว่าการประกันภัยในลักษณะนี้กำลังเป็นที่นิยมมากในหลายๆประเทศ เนื่องจากจะช่วยลดการขาดทุนจากความเสียหาย ที่อาจเกิดขึ้น สำหรับการดำเนินการในการออกกรมธรรม์ บริษัท โพว์-มา อินเตอร์เนชั่นเนล อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด ได้กำหนดผู้ออกกรมธรรม์การประกันภัยในประเทศไทยไว้ ดังนี้ การประกันภัยกุ้ง ให้บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด(มหาชน) และกลุ่มซีพีอลิอันซ์ เป็นผู้ออกกรมธรรม์ สำหรับเรือประมงได้มอบหมายให้บริษัท ไอเอจี ประกันภัย(ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ออกกรมธรรม์ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การประกันภัยเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทางชุมนุมเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งแห่งประเทศไทยได้จัดทำโครงการเกษตรพันธสัญญา(Contract Farming) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการบริโภคกุ้งภายในประเทศ โดยขอเงินสนับสนุนจากกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร(คชก.) ซึ่งได้กำหนดให้มีการประกันภัยกุ้งรวมอยู่ด้วย นับเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่กรมประมงได้ร่วมมือกับภาคเอกชนวางรากฐานให้เกษตรกรไทยสามารถประกอบอาชีพประมงได้อย่างสบายใจด้วยการประกันภัย
ในรอบสัปดาห์ผ่านมา(6 — 12 ธ.ค. 2553) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,061.63 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 609.59 ตัน สัตว์น้ำจืด 452.04 ตัน ประกอบด้วยสัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 2.00 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 3.58 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 112.80 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 14.19 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 77.04 ตัน
การตลาด
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 42.90 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ ที่ผ่านมา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคา
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 58.94 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 58.33 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.61 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 118.33 บาท ลดลงจาก กิโลกรัมละ 120.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.67 บาท
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 128.83 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 127.24 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.59 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 135.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 58.63 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 58.32 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.31 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 66.43 บาท ลดลงจาก กิโลกรัมละ 70.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 3.57 บาท
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 137.14 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 110.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 27.14 บาท
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 9.07 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 8.77 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.30 บาท
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 8 - 14 ม.ค. 2554) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 24.10 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 10 — 16 มกราคม 2554--