ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวทั่วไป Tuesday January 18, 2011 14:35 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

การตลาด

มติ ครม. เมื่อวันที่ 14 ก.ย. เห็นชอบการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 รอบที่ 1 ดังนี้

1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 (รอบ 1)

  • การขึ้นทะเบียนเกษตรกร 1 มิ.ย. — 30 พ.ย.53 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 16 ก.ค. - 31 มี.ค.54
          - การประชาคม 16 มิ.ย. — 15 ธ.ค.53           ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 1 ส.ค. 53 — 15 เม.ย.54
          - ออกใบรับรอง 16 มิ.ย. — 31 ธ.ค.53           ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 1 ส.ค. 53 — 30 เม.ย.54
  • ทำสัญญาประกันรายได้ 1 ก.ค. 53 — 31 ม.ค.54 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 16 ส.ค. 53— 31 พ.ค.54
  • ระยะเวลาใช้สิทธิ 1 ส.ค. 53 - 15 มี.ค.54 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 16 ก.ย. 53 — 15 ก.ค.54
  • ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
                    - ข้าวเปลือกหอมมะลิ     ตันละ 15,300 บาท        ไม่เกิน  14 ตัน / ครัวเรือน
                    - ข้าวเปลือกหอมจังหวัด   ตันละ 14,300 บาท        ไม่เกิน  16 ตัน / ครัวเรือน
                    - ข้าวเปลือกเจ้าตันละ    ตันละ 10,000 บาท        ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
                    - ข้าวเปลือกปทุมธานี1    ตันละ 11,000 บาท        ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
                    - ข้าวเปลือกเหนียว      ตันละ  9,500 บาท        ไม่เกิน  16 ตัน / ครัวเรือน
  • มติ ครม. วันที่ 7 ธ.ค. 53 เห็นชอบตามมติ กขช. ครั้งที่ 12/2553 เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 53 ที่เห็นชอบให้กรมส่งเสริมการเกษตร ผ่อนผันหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบที่ 1) ดังนี้

1) ให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว (ทพศ.1) ปี 2553/54 รอบที่ 1 ซึ่งอยู่ระหว่างรอการทำประชาคมแต่ประสบภัยธรรมชาติ ให้คณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบลตรวจสอบพื้นที่ปลูกของเกษตรกร หากพบเศษซากต้นข้าวในแปลงให้มีการดำเนินการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว (ทพศ.1) ปี 2553/54 รอบที่ 1 ตามขั้นตอนปกติ

2) ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2553/54 รอบที่ 1 ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางรวมจังหวัดชุมพร ในส่วนของการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การทำประชาคม และการออกหนังสือรับรองให้เกษตรกรเป็นสิ้นสุดวันที่ 31 มกราคม 2554 และในส่วนการทำสัญญาประกันรายได้ของ ธ.ก.ส.เป็นสิ้นสุด 28 กุมภาพันธ์ 2554

ทั้งนี้ เฉพาะพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยและวาตภัย

2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ2)

ปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้

          - ข้าวเปลือกปทุมธานี 1        ตันละ 11,000 บาท             ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
          - ข้าวเปลือกเจ้า             ตันละ 10,000 บาท             ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
          - ข้าวเปลือกเหนียว           ตันละ  9,500 บาท             ไม่เกิน  16 ตัน / ครัวเรือน

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้ ราคาข้าวทุกตลาดสัปดาห์นี้ยังคงลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน เนื่องจากการซื้อขายมีไม่มาก ความต้องการข้าวจากต่างประเทศยังมีน้อย แต่โรงสีมีข้าวในสต็อกมาก และต้องระบายข้าวในสต็อกออกมาขณะเดียวกันผลผลิตข้าวนาปี ปี2553/54 ยังคงมีออกสู่ตลาด ข้าวมีความชื้นสูง จึงส่งผลให้พ่อค้าซื้อในราคาต่ำลง

การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 23 ธันวาคม 2553 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 8.727 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 8.417 ล้านตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.68 (ที่มา: กรมการค้าภายใน)

1.2 ราคา

ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,591 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,605 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.11

ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,475 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,240 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.85

ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,789 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,829 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.29

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,090 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,210 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.84

ราคาส่งออก เอฟ.โอ. บี

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,029 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,999 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,035 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,937 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.58 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 62 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 822 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,763 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 828 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,750 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.73 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 13 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 527 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,876 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 530 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,842 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.57 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 34 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 471 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,189 บาท/ตัน) ราคาลดลงตันละ 474 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,168 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.63 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 21 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 541 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,298 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 538 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,081 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.56 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 217 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.1255 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

2.1 การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนเบื้องต้นว่าผลผลิตข้าวโลกปี 2553/54 ประจำเดือนมกราคม 2554 ว่าจะมี 452.366 ล้านตันข้าวสาร (677.10 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจาก 440.942 ล้านตันข้าวสาร (660.70 ล้านตันข้าวเปลือก) ของปี 2552/53 ร้อยละ 2.59 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตของประเทศผู้บริโภคและผู้ส่งออกที่สำคัญของโลก เช่น บังคลาเทศ บราซิล กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และ สหรัฐอเมริกา

2.2 การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนบัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2553/54 ณ เดือนมกราคม 2554 ว่าผลผลิต ปี 2552/53 จะมี 452.366 ล้านตันข้าวสาร(677.10 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.59 การใช้ในประเทศจะมี 452.768 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 3.40 การส่งออก/นำเข้าจะมี 30.325 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.32 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 94.368 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.42

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล พม่า จีน อินเดีย อุรุกวัย และสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อิยิปต์ ปากีสถาน อียู กายานา และเวียดนาม

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ โกตดิวัวร์ คิวบา เม็กซิโก อิหร่าน อิรัก จีน ฮ่องกง เวียดนาม ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ โมแซมบิค์ เยเมน อียู และสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บังคลาเทศ บราซิล และฟิลิปปินส์ สำหรับประเทศที่คาดว่าจะมี สต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินเดีย และฟิลิปปินส์

ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต๊อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เวียดนาม และสหรัฐฯ

2.3 จีนเพาะปลูกข้าวลูกผสมซุปเปอร์ไรซ์กว่า 41 ล้านไร่ ในปีนี้

จากการรายงานของกระทรวงเกษตรจีน เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 53 ที่ผ่านมาว่า ปริมาณผลผลิตธัญพืชทั้งหมดในปี 2553 อยู่ที่ 546.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่าน 15.6 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ด้วยพื้นที่เพาะปลูกธัญพืชกว่า 686.7 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 5.53 ล้านไร่ โดยผลผลิตธัญพืชได้เพิ่มขึ้น 7 ปีติดต่อกันเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี และรักษาระดับอยู่ที่ 500 ล้านตันต่อปี เป็นที่ 5 ติดต่อกัน

โดยผลผลิตข้าวคิดเป็นร้อยละ 40 ของผลผลิตธัญพืชทั้งหมด จากสถิติของกระทรวงเกษตรพบว่า ในปีนี้มีการเพาะปลูกข้าวลูกผสมซุปเปอร์ไรซ์ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรจำนวน 80 สายพันธุ์ คิดเป็นพื้นที่กว่า 100 ล้านหมู่ หรือประมาณ 41.67 ล้านไร่ หรือ 1 ใน 4 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวของจีนทั้งหมด โดยมีผลผลิตเพิ่มขึ้นไร่ละ 142.32 กิโลกรัม ลดต้นทุนและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นไร่ละ 274.8 หยวน

ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวกล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว ข้าวลูกผสมซุปเปอร์ไรซ์สามารถให้ผลผลิตถึง 1,920 กิโลกรัม/ไร่ ขึ้นไป เมื่อมีการส่งเสริมให้เพาะปลูกขนานใหญ่แล้ว จะช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวได้มากกว่าข้าวทั่วไปถึงร้อยละ 15 คุณภาพของข้าวก็อยู่ในมาตรฐานแห่งชาติระดับ 3 ขึ้นไป ดังนั้นข้าวลูกผสมซุปเปอร์ไรซ์จึงเป็นข้าวคุณภาพดี และให้ผลผลิตต่อไร่สูง โดยแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญอยู่ใน 3 มณฑลทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่มณฑลเหลียวหนิง จี๋หลิน และเฮยหลงเจียง

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 10 — 16 มกราคม 2554--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ