เกษตรฯ ร่วมบูรณาการฟื้นฟูเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติจังหวัดพัทลุง

ข่าวทั่วไป Thursday February 3, 2011 12:03 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

กระทรวงเกษตรร่วมบูรณาการฟื้นฟูเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติในจังหวัดพัทลุง หนุนดันแนวทาง 3 ขั้นตอน ขับเคลื่อนหวังเป็นต้นแบบในการบูรณาการ สร้างความอยู่ดีกินดีของเกษตรกรจังหวัดพัทลุง เร่งรัดให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

          นายธรณิศร กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการเศรษฐกิจการเกษตรเขต 9 (สศข.9) จังหวัดสงขลา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟูเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติในจังหวัดพัทลุง ระหว่างวันที่ 21-22 มกราคมที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมกาบบัว ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดพัทลุง อ.เมือง จ.พัทลุง โดยมีนายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นประธาน ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุงร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาผู้นำธุรกิจและชุมชน        เพื่อเสนอแนวทางในการเลือกประกอบอาชีพหลังประสบภัยพิบัติ ให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบตัดสินใจในการเลือกปลูกพืชตามความเหมาะสมของพื้นที่ และผลตอบแทนที่เกษตรกรจะได้รับในอนาคตอย่างยั่งยืน ซึ่งภาครัฐได้นำเสนอข้อมูลด้านสถานการณ์การผลิตและการตลาด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และความเหมาะสมของพื้นที่สำหรับการปลูกพืช  ส่วนภาคเอกชนได้นำเสนอข้อมูลทางด้านการคัดเลือกพันธุ์  เทคนิคการปลูก การดูแลรักษา และนำเสนอการศึกษาดูงานของภาคเอกชนที่ประสบผลสำเร็จจากปลูกพืช  เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เรียนรู้และเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง สำหรับเป็นทางเลือกในการตัดสินใจต่อไป

ส่วนแนวทางในการขับเคลื่อนนั้น ประกอบด้วยขั้นตอนที่ 1 วิเคราะห์และกำหนดเป้าหมาย พืชที่เกษตรกรมีความสนใจ วิเคราะห์ความเหมาะสมของดิน จัดเตรียมหาพันธุ์ตามความต้องการ ขั้นตอนที่ 2 จัดเตรียมส่วนผสมเสริมสร้างความรู้ที่เหมาะสม ด้วยการคัดเลือกและส่งเสริมศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ และศึกษาดูงานชุมชนที่เข้มแข็ง และขั้นตอนที่ 3 การนำไปปฏิบัติจริง ด้วยการสนับสนุนปัจจัยการผลิตตามความจำเป็น และติดตามประเมินผลโครงการ สำหรับแผนงานการดำเนินการตามแนวทางในการขับเคลื่อนที่กำหนด ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งรัดให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นต้นแบบในการปฏิบัติเชิงบูรณาการ และความอยู่ดีกินดีของเกษตรกรจังหวัดพัทลุง ต่อไป

สำหรับ จังหวัดพัทลุงนั้น ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ 11 อำเภอ พื้นที่เสียหาย 329,973 ไร่ มีเกษตรกรที่รับผลกระทบจำนวน 106,350 ครัวเรือน ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ความเสียหายในแต่ละด้าน พบว่า ด้านพืช เสียหายทั้งหมด 323,871 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบจำนวน 82,753 ราย แยกเป็นพื้นที่ข้าวนาปี 92,284 ไร่ พื้นที่พืชไร่ 10,128 ไร่ พื้นที่สวน 145,728 ไร่ และพื้นที่สวนยางพาราของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางพารา 75,731 ไร่ ด้านปศุสัตว์ เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ 18,447 ครัวเรือน ประเมินความเสียหายด้านปศุสัตว์ ประกอบด้วย โค 39,759 ตัว กระบือ 2,221 ตัว สุกร 62,537 ตัว เป็ด 131,921 ตัว ไก่ 589,994 ตัว แพะ 1,045 ตัว รวมทั้งสิ้น 827,477 ตัว และแปลงหญ้า 2,620 ไร่ และ ด้านประมง เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในบ่อได้รับผลกระทบ 4,505 ครัวเรือน พื้นที่เสียหาย 3,074 ไร่ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง/ปู/หอย 125 ครัวเรือน พื้นที่เสียหาย 390 ไร่ กระชังปลา 520 ราย พื้นที่เสียหาย 18 ไร่ ประมาณมูลค่าความเสียหาย 36,320,000 บาท ส่วนเรือประมงและเครื่องมือประมง รวมมูลค่าความเสียหาย 18,200,000 บาท ประกอบด้วยเรือประมง 310 ลำ อวน 30,000 ผืน ไซ 30,000 ลูก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ