สศข.5 เผยมีเกษตรกรกว่าพันรายเข้าร่วมโครงการนำร่องบูรณาการฯ มันสำปะหลัง

ข่าวทั่วไป Thursday February 10, 2011 13:35 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 5 จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดนครราชสีมา และบริษัทรับซื้อมันสำปะหลัง ร่วมโครงการนำร่องบูรณาการเขตเกษตรเศรษฐกิจ เพื่ออาหาร พลังงาน และอุตสาหกรรม

นายยรรยง แสนสิงห์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 5 จังหวัดนครราชสีมา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า โครงการนำร่องบูรณาการเขตเกษตรเศรษฐกิจ เพื่ออาหาร พลังงาน และอุตสาหกรรม มีวัตถุงประสงค์ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและมูลค่าเพิ่มทางการตลาด หรือเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของมันสำปะหลัง จากการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระอุตสาหกรรม และบริษัทที่รับซื้อมันสำปะหลัง นครราชสีมาจะเป็นจังหวัดที่เริ่มโครงการนี้ โดยดำเนินการในท้องที่ 8 อำเภอ อันได้แก่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอจักราช อำเภอโชคชัย อำเภอหนองบุญมาก อำเภอเมือง อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง และอำเภอปักธงชัย โครงการนี้กำหนดดำเนินงาน 3 ปี ในระหว่างปี 2554-2556 สำหรับแผนงานและโครงการที่สำคัญ ได้แก่ การเตรียมดินให้เหมาะสมต่อการปลูกมันสำปะหลัง การขยายพันธุ์มันสำปะหลังที่ปลอดเพลี้ย การอบรมเกษตรกรเรื่องการจัดทำแปลงเพาะปลูก การกำจัดศัตรูพืชในไร่มันสำปะหลัง การจัดทำระบบน้ำในไร่มันสำปะหลัง การวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง โดยการกระจายพันธุ์ดีและการขยายพันธุ์ การส่งเสริมพลังงานทดแทนเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและลดต้นทุนด้านพลังงานของเกษตรกร และอื่นๆ

สำหรับ ตัวอย่างของการดำเนินงานนั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 5 จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ตลอดจนบริษัทรับซื้อมันสำปะหลังอีก 2 บริษัทคือ บริษัทวงวนวงษ์ และบริษัททีพีเคเอทานอท ได้ดำเนินงานครั้งล่าสุดในเดือนมกราคม 2554 โดยร่วมมือกันให้ความรู้แก่เกษตรกร การสำรวจข้อมูลพื้นฐาน และการตรวจวัดพื้นที่ที่นำเข้าร่วมโครงการด้วยเครื่อง GPS เพื่ออ่านว่าจุดนั้นอยู่ในตำแหน่งใดและระดับความสูงจากน้ำทะเล โดยพื้นที่นั้นต้องยังไม่ได้ดำเนินการปลูก เพื่อให้การปลูกในปีนี้เป็นไปตามขั้นตอน และพื้นที่นำเข้าร่วมโครงการต้องไม่เกิน 5 ไร่ ต่อราย จะตรวจวัดความเหมาะสมของดินและการช่วยเหลือเกษตรกรเกี่ยวกับการปลูกมันสำปะหลังที่ถูกวิธี เช่นการแช่ท่อนพันธุ์ก่อนปลูก หรือการกำจัดเพลี้ยแป้ง นั่นคือเพื่อให้มันสำปะหลังมีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นนั่นเอง สำหรับข้อมูลต่างๆ ที่ได้มานี้จะเป็นข้อมูลเบื้องต้น เพื่อนำไปเปรียบเทียบดูว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการแล้ว ผลที่เกษตรกรได้รับจะตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่

นายยรรยง กล่าวต่อว่า สำหรับจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนั้นในปีแรกนี้ได้ตั้งเป้าหมายไว้จำนวน 1,000 รายและจะเพิ่มขึ้นอีกในปีต่อๆ ไป จะเห็นได้ว่าโครงการนี้มีทั้งหน่วยงานราชการและภาคเอกชนได้จังจับมือกันช่วยเหลือเกษตรกรและจะขยายการดำเนินไปยังพื้นที่อื่นๆ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ