สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย ผลการพัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ภายใต้โครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้ ระยะที่ 2 (ปี2552-2556) พบพื้นที่เป้าหมายได้รับผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่สูงขึ้น และได้รับการรับรองแหล่งผลิตตามมาตรฐาน GAP แล้ว
นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าจัดทำโครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้ ระยะที่ 2 (ปี 2552 - 2556) โดยการบูรณาการ 7 หน่วยงานในสังกัด เพื่อดำเนินงานปรับโครงสร้างพื้นฐานด้วยการก่อสร้างระบบพัฒนาที่ดิน ระบบชลประทานทั้งการเก็บกักน้ำ การผันน้ำ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและประตูระบายน้ำ การส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธ์ข้าวคุรภาพดีภายใต้ศูนย์ข้าวชุมชน การส่งเสริมคุรภาพการเพิ่มผลผลิตให้ได้รับการรับรองแหล่งผลิตตามมาตรฐาน GAP และการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ให้มีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจการตลาดข้าวด้วยการจัดสรรวัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยี และการออกแบบตราสัญลักษณ์สินค้าในชื่อ “ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาฟาร์ม”
ผลการลงพื้นที่ของศูนย์ประเมินผล สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อประมวลผลหลังการดำเนินงาน 2 ปีแรกของโครงการในเบื้องต้น พบว่า การทำนาปีการผลิต 2553/54 พื้นที่ส่วนใหญ่ได้รับผลผลิตเฉลี่ยต่อไรเพิ่มขึ้นเป็น 300 — 450 กิโลกรัม จากการก่อนมีโครงการ (ปีการผลิต 2551/52) ที่ได้รับผลผลิตเฉลี่ย เฉลี่ย 200 — 350 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงการประกอบกับภาวะที่เอื้ออำนวย ทั้งยังได้รับการรับรองแหล่งผลิตตามมาตรฐาน GAP จำนวน 9,873 แปลงจากเป้าหมาย 10,000 แปลง
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการผลิตให้ได้รับการรับรองแหล่งผลิตตามาตรฐาน GAP ควรมีการดูแลเรื่องตลาดรองรับ เพราะมีเกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาไม่แตกต่างจากการผลิตตามวิธีปกติ จะเป็นสาเหตุไม่จูงใจให้ทำการพัฒนาการผลิตอย่างจริงจังและยั่งยืน และในบางพื้นที่ที่ค่อนข้างมีความพร้อมด้านแหล่งน้ำโดยเฉพาะจังหวัดสุรินทร์ มีเกษตรกรทำนาปรังซึ่งต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวชนิดอื่น เกรงเกิดการปะปนพันธุ์ส่งผลกระทบต่อความพิเศษของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ในการทำนาปีต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--