สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ติดตามผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ Food Safety ของท้องที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ในสองชนิดสินค้า ได้แก่ มะม่วง และ ปลาสลิด มุ่งสร้างความเชื่อถือทั้งด้านคุณภาพและปริมาณให้แก่ผู้บริโภค แนะส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อขยายผลด้านการผลิตและการตลาดอย่างต่อเนื่อง
นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ติดตามผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร (Food Safety) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในท้องที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบด้วยสินค้า 2 ชนิด ได้แก่ มะม่วง และ ปลาสลิด ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้พัฒนาการรวมกลุ่ม และนำร่องการตรวจรับรองแบบกลุ่ม เพื่อสร้างความเชื่อถือทั้งด้านคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอ โดยผลการติดตามฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาสลิดของเกษตรกรในอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา มีการรวมกลุ่มกันมาตั้งแต่ปี 2550 สมาชิกทั้งหมด 200 ราย กำลังทยอยตรวจรับรองมาตรฐาน GAP (Good Aquaculture Practice) ระดับฟาร์ม และกำลังมีการขอรับรองแบบกลุ่ม ด้านการตลาดมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อที่ปากบ่อ ราคาเฉลี่ย 36 บาทต่อกิโลกรัม และในปี 2554 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทางจังหวัดจำนวน 4.6 ล้านบาท เพื่อดำเนินการในเรื่องการตลาดและการแปรรูป ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างครบวงจรและยั่งยืน และผลการดำเนินงานนโยบายดังกล่าวทำให้ผู้ซื้อมีความเชื่อถือในด้านคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าประมงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากฟาร์มเพาะเลี้ยงผ่านการรับรองแล้ว ในระดับของผู้รวบรวมผลผลิตจะรวบรวมปลาจากฟาร์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐานของกรมประมง จึงมั่นใจได้ว่าผลผลิตที่ออกสู่ตลาดไม่มีปัญหาสารตกค้าง ส่งผลให้ฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาสลิดมีตลาดรับซื้ออย่างต่อเนื่อง
สำหรับกลุ่มผู้ปลูกมะม่วง เกษตรกรมีการรวมกลุ่มผู้ปลูกมะม่วง และจัดตั้งสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด ที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา มีสมาชิกในกลุ่มทั้งหมด 180 ราย มีการผลิตมะม่วง น้ำดอกไม้เบอร์ 4 น้ำดอกไม้สีทอง และมะม่วงเขียวเสวย ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practice) เป็นรายแปลงแล้วร้อยละ 90 ของสมาชิกทั้งหมด และกำลังขอรับรองแบบกลุ่ม และในปี 2554 มีการทำสัญญาซื้อขายแบบมีข้อตกลงกับบริษัทเอกชน 5 บริษัท จำนวนผลผลิต 700 ตัน โดยในปัจจุบันตลาดส่งออกมะม่วงของไทยมีมากขึ้นทั้งในตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน อันเป็นผลมาจากการส่งเสริมการปลูกมะม่วงให้มีมาตรฐานความปลอดภัย
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินนโยบายความปลอดภัยด้านอาหารเพื่อให้ไทยเป็นครัวของโลก ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา โดยหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบ ได้ส่งเสริมให้ผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร เข้าสู่ระบบมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค โดยจากการติดตามผลการดำเนินงานดังกล่าวของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาระบบมาตรฐานความปลอดภัยนั้น นอกจากการพัฒนาในระดับฟาร์มของเกษตรกรแต่ละรายแล้ว ควรมีการส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อขยายผลด้านการผลิตและการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคงแก่เกษตรกรต่อไป รองเลขาธิการ กล่าวในที่สุด
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--