สศข.8 เผยผลการดำเนินงานโครงการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ ปี 2553

ข่าวทั่วไป Thursday February 24, 2011 15:33 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เขต 8 และเขต 9 ร่วมประชุมและรายงานผลการประเมินโครงการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ ปี 53 มุ่งแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคใต้ราคาตกต่ำ 4 ชนิด คือ เงาะ ทุเรียน มังคุด และลองกอง โดยการกระจายผลไม้ในส่วนที่เกินกว่ากลไกตลาดปกติจะรองรับได้ ออกนอก 14 จังหวัดภาคใต้

นายอนุสรณ์ พรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 (สศข.8) จ.สุราษฎร์ธานี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินงานตามโครงการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ ปี 2553 ของสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดสงขลา ว่า ทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 9 ได้เข้าร่วมประชุมและรายงานผลการประเมินโครงการดังกล่าว พร้อมสรุปปัญหา ข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินโครงการในปีต่อไป ซึ่งโครงการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ ปี 2553 มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคใต้ราคาตกต่ำ โดยเน้นผลไม้ที่สำคัญ 4 ชนิด คือ เงาะ ทุเรียน มังคุด และลองกอง สำหรับมาตรการที่ใช้ดำเนินการ คือ การกระจายผลไม้ในส่วนที่เกินกว่ากลไกตลาดปกติจะรองรับได้ ออกนอก 14 จังหวัดภาคใต้ มีวิธีดำเนินการ คือ ให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตทางการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) บูรณาการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาผลไม้ราคาตกต่ำระดับจังหวัด โดยมีส่วนกลางให้การสนับสนุน

ซึ่งในปีนี้ คพจ. ของจังหวัดภาคใต้ตอนบน (ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช) ได้ขอสนับสนุนเงินจ่ายขาดต่อคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) จำนวน 96,662,000 บาท สำหรับกระจายผลไม้ออกนอก 14 จังหวัดภาคใต้ ขอสนับสนุนบรรจุภัณฑ์สำหรับผลไม้ในวงเงินงบประมาณ 10,112,500 บาท และขอเงินทุนหมุนเวียนปลอดดอกเบี้ย จำนวน 37,016,000 บาท โดยผลการประเมินโครงการ พบว่า มีสถาบัน/องค์กรที่สมัครเข้าร่วมโครงการและดำเนินการซื้อผลไม้ จำนวน 44 องค์กร ปริมาณผลไม้ที่รับซื้อมี 2 ชนิด คือ ลองกอง และมังคุด รับซื้อผลไม้ปริมาณ 12,233 ตัน คิดเป็นร้อยละ 17.17 ของเป้าหมายผลผลิตรับซื้อ และใช้เงินจ่ายขาดในการกระจายผลผลิตออกนอกพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 30,377,435 บาท โดยจัดซื้อตะกร้าพลาสติก บรรจุผลไม้ จำนวน 1,200,000 บาท สำหรับเงินทุนหมุนเวียนปลอดดอกเบี้ย จำนวน 37,016,000 บาท ไม่มีสถาบัน/องค์กรใดมาขอยื่นกู้

สำหรับด้านปัญหา และข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการปีต่อไป พบว่า ควรจัดสรรตะกร้าให้สถาบัน/องค์กรที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น เนื่องจากบางองค์กรที่เข้าร่วมโครงการยังขาดบรรจุภัณฑ์สำหรับผลไม้ รวมทั้งปัญหาคุณภาพผลไม้ พบว่า ก่อนการเก็บเกี่ยวผลไม้มีฝนตกชุก ทำให้ผลมังคุดมียางไหล ผลลองกองแตกและร่วงจากช่อ และในบางพื้นที่ลองกองช่อเล็กและมีรสเปรี้ยว ส่งผลให้ราคาตกต่ำ โดยในบางพื้นที่แรงงานเก็บเกี่ยวผลไม้หายาก และราคาแพง เกษตรกรจ้างเก็บมังคุด กก. ละ 3 - 5 บาท และจ้างเก็บลองกอง กก. ละ 3 บาท ในขณะที่ราคาผลไม้ที่เกษตรกรขายได้ไม่ดีนัก เพราะผลผลิตด้อยคุณภาพ นอกจากนี้ สถาบัน/องค์กรที่เข้าร่วมโครงการ ยังขาดแคลนแรงงานที่มีความชำนาญในการคัดเกรดผลไม้ และเกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างเกษตรกรและองค์กรที่รับซื้อผลไม้ โดยเกษตรกรมักจะนำผลไม้เสื่อมคุณภาพปะปนมาขาย ดังนั้น จึงควรมีการกำหนดราคารับซื้อผลไม้แยกตามเกรด นายอนุสรณ์ กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ