1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
กระชังปลาแม่น้ำโขงเตรียมรับมือภัยแล้ง
ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมงเปิดเผยว่า ในเขตพื้นที่แม่น้ำโขงไหลผ่านประเทศไทย จำนวน 7 จังหวัด คือ เชียงราย เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี มีการเลี้ยงปลากระชังรวมกว่า 3,000 กระชัง มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 7,000 ตันต่อปี ขณะนี้พบว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงมีปริมาณลดลงเรื่อยๆ เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น จึงขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมประมง คือ ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเลี้ยงปลา โดยปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงในปริมาณที่หนาแน่นน้อยกว่าปกติ เพื่อไม่ให้ปลาเกิดความเครียดในสภาวะน้ำน้อย เลือกทำเล ที่มีน้ำไหลสะดวก ไม่ขังอยู่กับที่ โดยระดับน้ำตรงจุดที่วางกระชังเลี้ยงปลา ไม่ควรต่ำกว่า 2 เมตร เพิ่มเวลาในการตรวจสอบปลาในกระชัง และลดปริมาณกระชังเลี้ยงปลาลง ที่สำคัญต้องมีการติดตามสถานการณ์การเลี้ยงปลาบริเวณโดยรอบอย่างใกล้ชิด และหมั่นสังเกตและติดตามสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขงทุกวัน นอกจากนี้ เพื่อเป็นการ เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ กรมประมง ได้จัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้ง ประจำปี 2554 เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ โดยการวางแผนการให้ ความช่วยเหลือไว้ 3 ระยะ คือ 1. การเตรียมรับสถานการณ์ก่อนเกิดภัยแล้ง 2. การให้ความช่วยเหลือขณะเกิดภัยแล้ง และ 3. การให้ความช่วยเหลือหลังเกิดภัยแล้ง ขณะนี้ กรมประมงได้ประชาสัมพันธ์ผ่านหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ เพื่อแจ้งเตือนภัยแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้ได้รับทราบถึงช่วงระยะเวลา หรือภาวะภัยแล้งที่จะมาถึง เพื่อเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ รวมทั้งหาวิธีการป้องกัน แก้ไข และหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นให้มากที่สุด และเกษตรกรควรติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และหากมีปัญหาในการเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำ สามารถขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำจากนักวิชาการประมงได้ที่ศูนย์/สถานี และสำนักงานประมงจังหวัด ทั่วประเทศ
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (14 — 23 ม.ค. 2554) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,382.01 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 725.48 ตัน สัตว์น้ำจืด 656.53 ตัน
ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 3.02 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 5.04 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 233.85 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 16.78 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 88.52 ตัน
การตลาด
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 43.15 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 43.20 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.05 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคา
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 57.96 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 58.73 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.77 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 126.00 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ132.50 บาท ของสัปดาห์ก่อน 6.50 บาท
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 146.69 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 138.83 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 7.86 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 150.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 147.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 3.00 บาท
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 59.08 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 59.68 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.60 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 70.50 บาท สูงขึ้นจาก กิโลกรัมละ 70.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.50 บาท
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 157.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 145.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 12.00 บาท
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.97 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 8.78 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.19 บาท
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 18 — 25 ก.พ. 2554) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 30.10 ลดลงจากกิโลกรัมละ 30.74 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.64 บาท
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 21 - 27 กุมภาพันธ์ 2554--