1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
การใช้ความเค็มเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด
นายนิกร จำนง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ตามที่นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการด้านการประมง ได้เสนอปัญหาความเดือนร้อนของเกษตรกรผู้เพาะลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด ต่อคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติพิจารณาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเสนอความเห็นจากคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติไปยังคณะรัฐมนตรีพิจารณาใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1. ให้มีการพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์ในการให้คำนิยามของคำว่า พื้นที่น้ำจืด ของกรมพัฒนาที่ดิน โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้มีการพิจารณาทางวิชาการร่วมกันระหว่าง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมประมง กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยให้ได้ข้อสรุปภายใน 30 วัน 2. ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานวิชาการในระดับจังหวัด เพื่อกำหนดพื้นที่น้ำจืดในแต่ละจังหวัดใหม่ ให้มีความเหมาะสมตามสภาพของแต่ละพื้นที่ เพื่อใช้สำหรับการออกคำสั่งระงับการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามที่ได้รับมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 6/2553 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2553 เรื่อง มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี และ 3. กำหนดให้มีหน่วยงานกลาง ซึ่งในที่ประชุมได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รับผิดชอบดำเนินการ ทำโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมจากการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด โดยพิจารณาคัดเลือกฟาร์มที่ได้ดำเนินการเพาะเลี้ยงอยู่แล้วจากทั่วประเทศ จำนวนหนึ่งที่มีความหลากหลายด้านสภาพพื้นที่ และ การเพาะเลี้ยงที่แตกต่างกัน ซึ่งกรณีนี้จะต้องมีการขอยกเว้นฟาร์มที่ใช้ในการศึกษาดังกล่าวไประยะหนึ่ง แต่ต้อง ไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้ กรมประมงได้จัดเตรียมงบประมาณดำเนินการโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมจากการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่น้ำจืด และจัดเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบ และมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้ความเค็มใน การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด โดยใช้งบประมาณดำเนินการเป็นเงินทั้งสิ้น 12.6 ล้านบาท ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุป ผลการศึกษาและมาตรการต่างๆ แล้ว กระทรวงเกษตรฯจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งต่อไป
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (24 — 30 ม.ค. 2554) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,155.77 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 572.67 ตัน สัตว์น้ำจืด 583.10 ตัน
ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 1.99 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 3.57 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 114.21 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 11.53 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 83.38 ตัน
การตลาด
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 43.05 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 43.15 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.10 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคา
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 58.81 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 57.96 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.85 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 120.00 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 126.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 6.00 บาท
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 145.20 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 146.69 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.46 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 150.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 58.95 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 59.08 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.13 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 69.29 บาท ลดลงจาก กิโลกรัมละ 70.50 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.21 บาท
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 158.57 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 157.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.57 บาท
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.97 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 26 ก.พ. — 4 มี.ค. 2554) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 30.74 สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 30.10 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.64 บาท
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 28 ก.พ. — 6 มี.ค. 2554--