กระทรวงเกษตรฯ เตรียมพร้อมจัดการปัญหาผลไม้ ภาคตะวันออก ปี 2554

ข่าวทั่วไป Wednesday March 9, 2011 13:32 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศข. 6 ร่วมประชุมภารกิจการตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ในเรื่องการบูรณาการโครงการภายใต้แผนการตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ พื้นที่นำร่อง พร้อมนำเสนอสถานการณ์การผลิตผลไม้ภาคตะวันออกปี 54 และมาตรการการบริหารจัดการผลไม้ของรัฐบาล เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ที่ภาครัฐได้กำหนดนโยบายไว้รองรับ

นายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 (สศข.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยถึงการประชุมภารกิจการตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องการบูรณาการโครงการภายใต้แผนการตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พื้นที่นำร่องโดยใช้สหกรณ์การเกษตร อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เขต 3 และ เขต 9 (นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล ) เป็นประธาน และมีคณะผู้แทนส่วนราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมประชุม ซึ่งมีทั้งหน่วยงานภาครัฐและสมาชิกสหกรณ์เข้าร่วมรับฟังเพื่อให้แต่ละหน่วยงานภาครัฐร่วมเสวนาหาวิธีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน พร้อมทั้งทำพิธีลงนามโดยสหกรณ์การเกษตร อ. ขลุง, อ.เขาคิชฌกูฏ และ อ. มะขาม เพื่อส่งมอบผลไม้ให้กับบริษัท แม็คโคร จำกัด นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้ มอบเงินทุนกู้ยืมในการช่วยเหลือเกษตรกรโดยผ่านสหกรณ์การเกษตร โดยการประชุมดังกล่าวได้จัดเวทีเสวนา ในประเด็นการขับเคลื่อนธุรกิจผลไม้ผ่านกลไกภาคสหกรณ์ในพื้นที่บูรณาการการเกษตร และการบูรณาการการทำงานการนำเสนอองค์ความรู้ต้นแบบเพื่อวางแผนบริหารจัดการผลผลิต (ผลไม้) การปรับโครงสร้างธุรกิจภาคสหกรณ์ และการจัดหาแหล่งทุนให้เกษตรกรผ่านกลไกสหกรณ์

ในการเสวนาดังกล่าว ผู้อำนวยการ สศข. 6 ได้นำเสนอสถานการณ์การผลิตผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2554 พร้อมทั้งได้นำเสนอนโยบายและมาตรการการบริหารจัดการผลไม้ของรัฐบาล โดยเน้นมาตรการทั้งด้านการป้องกัน การแก้ไขปัญหาผลไม้กระจุกตัว เช่น การจัดงานซื้อขายผลไม้ การจัดทำประชาสัมพันธ์ต่างๆ การป้องกันการแทรกแซงตลาด การสร้างอำนาจการต่อรองให้กับเกษตรกร โดยให้ตั้งสถาบันเกษตรกร เป็นศูนย์รวมผลไม้ และหาช่องทางในการกระจายผลผลิตออกไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการส่งเสริมการผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพเพื่อเพิ่มราคาให้กับสินค้าอีกด้วย และ สศข.6 ยังได้นำเสนอปริมาณผลผลิตไม้ผลที่คาดการณ์ล่วงหน้าเพื่อให้ทุกหน่วยงานได้นำไปเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการผลไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ทั้งนี้ การบูรณาการการเกษตรโดยผ่านกลไกสหกรณ์นั้น จะทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ที่ภาครัฐได้กำหนดนโยบายต่างๆ ไว้รองรับ ส่งผลเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-