1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
อนุบาลลูกปลาช่อนเชิงพาณิชย์
นางสมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมงเปิดเผยว่า ปลาช่อนเป็นปลาเศรษฐกิจที่ได้รับ ความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่ยังพบปัญหาและอุปสรรค เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม น้ำมีมลพิษมากขึ้น แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ในธรรมชาติถูกทำลาย ส่งผลให้ปริมาณปลาช่อนลดน้อยลง ทางกรมประมงจึงได้มีการเพาะพันธุ์และอนุบาลปลาช่อน โดยสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด สามารถวิจัยและทดลองอนุบาลลูกปลาช่อนจนเป็นผลสำเร็จและนำไปปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายสมหวัง พิมลบุตร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเปิดเผยว่า นางณพัชร สงวนงาม และคณะ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสิงห์บุรี ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและทดลองอนุบาลลูกปลาช่อน โดยการเลือกขนาดถังและอัตราการปล่อยที่ต่างกันต่อการอนุบาลจนประสบผลสำเร็จ ลูกปลาช่อนส่วนใหญ่ที่ได้จะ มีขนาด 5—7 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงเชิงพาณิชย์และเป็นที่ต้องการของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง เนื่องจากเป็นขนาดที่มีอัตรารอดตายสูงและมีการเจริญเติบโตที่ดี ในการทดลองอนุบาล คณะผู้วิจัยได้ใช้ถังอนุบาล ไฟเบอร์กลาสกลมต่างกัน 3 ขนาด คือ 0.5 1.0 และ 3.0 ตารางเมตร และอัตราปล่อยต่างกัน 5 ระดับ คือ 100 600 1,200 1,800 และ 2,400 ตัวต่อตารางเมตร ผลการศึกษาพบว่า ขนาดถังอนุบาลที่ต่างกัน จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของลูกปลาที่ต่างกัน โดยถังที่มีขนาดใหญ่ทำให้ลูกปลาสามารถเติบโตได้เร็วมากกว่า และการอนุบาลปลาช่อนที่ระดับอัตราปล่อยที่มากขึ้น จะมีผลทำให้การเติบโตของลูกปลาช่อนมีค่าน้อยกว่าระดับอัตราปล่อยที่น้อยลง ลูกปลาช่อน ในถังขนาด 3.0 ตารางเมตร อัตราปล่อย 2,400 ตัวต่อตารางเมตร ใช้ระยะเวลาอนุบาลเพียง 20 วัน ได้ลูกปลาที่มีขนาดความยาวเฉลี่ย 6.7 เซนติเมตร อัตรารอดตายร้อยละ 85 พิจารณาต้นทุนและผลตอบแทนพบว่า มีความเหมาะสมในการนำไปปฏิบัติมากที่สุด
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา(31 ม.ค.—6 ก.พ. 2554) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 221.03 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 129.30 ตัน สัตว์น้ำจืด 91.73 ตัน
ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 0.97 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 1.59 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 30.59 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 0.12 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 26.25 ตัน
การตลาด
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 44.06 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 43.49 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.57 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคา
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 58.69 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 58.89 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.20 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 123.33 บาท
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 141.34 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 143.26 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.92 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 150.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 147.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 2.50 บาท
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 65.04 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 76.67 บาท
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 101.00 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 110.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 9.00 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 163.33 บาท
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 9.35 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 8.53 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.82 บาท
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 12 — 18 มี.ค. 2554) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 39.10 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 36.10 บาท ของสัปดาห์ก่อน 3.00 บาท
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 14 — 20 มีนาคม 2554--