1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
การตลาด
1.1 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 (รอบ 2)
มติ ครม. เมื่อวันที่ 15 ก.พ.54 และ 8 มี.ค. 54 เห็นชอบการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 รอบที่ 2 ดังนี้
การขึ้นทะเบียนเกษตรกร 4 ม.ค. — 31 พ.ค. 54 ภาคใต้ 1 เม.ย. - 15 ก.ค. 54
การประชาคม 20 ม.ค. — 15 มิ.ย.54 ภาคใต้ 2 พ.ค. — 31 ก.ค. 54 ออกใบรับรอง 20 ม.ค. — 30 มิ.ย. 54 ภาคใต้ 2 พ.ค. — 15 ส.ค. 54
ทำสัญญาประกันรายได้ 20 ม.ค. 53 — 31 ก.ค. 54 ภาคใต้ 2 พ.ค. 53— 15 ก.ย. 54
ระยะเวลาใช้สิทธิ 1 ก.พ. - 15 ก.ย. 54 ภาคใต้ 1 มิ.ย. 31 ต.ค. 54
ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
- ข้าวเปลือกเจ้าตันละ ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 30 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกปทุมธานี1 ตันละ 11,500 บาท ไม่เกิน 30 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 30 ตัน / ครัวเรือน
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้ ราคายังคงลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากพ่อค้าส่งออกยังไม่มีคำสั่งซื้อจากลูกค้าในปริมาณมากเข้ามา ประกอบกับผู้ส่งออกมีข้าวคงเหลือในสต็อกมากเพียงพอต่อการส่งมอบให้ลูกค้าจึงไม่ออกมารับซื้อข้าวจากโรงสี มีเพียงพ่อค้ารายย่อยที่ออกมารับซื้อ ขณะเดียวกันผลผลิตข้าว
นาปรัง ปี 2554 เริ่มทยอยออกสู่ตลาดมาก เกษตรกรใช้รถเกี่ยวนวดข้าวความชื้นสูง และมีเกษตรกรบางรายเก็บเกี่ยวข้าวซึ่งยังไม่สุก เนื่องจากต้องเก็บเกี่ยวรวมกับแปลงข้างเคียงมิฉะนั้นจะหารถเกี่ยวนวดยาก นอกจากนั้นเกษตรกรบางรายเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อหนีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ส่งผลให้ข้าวไม่มีคุณภาพ พ่อค้าโรงสีจึงให้ราคาต่ำ
การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 15 มีนาคม 2554 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 2.464 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 1.790 ล้านตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 37.65 (ที่มา: กรมการค้าภายใน)
1.2 ราคา
ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,786 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,892 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.88
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,555 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,583 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.33
ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,014 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,592 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.89
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ความชื้น 14-15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,551 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,553 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.03
ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,510 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,690 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.31
ราคาส่งออก เอฟ.โอ. บี
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 992 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,913 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 979 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,524 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.33 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 389 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 759 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,887 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 779 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,492 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.57 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 605 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 503 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,168 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 511 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,410 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.57 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 242 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 472 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,233 บาท/ตัน) ราคาลดลงตันละ 480 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,475 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.67 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 242 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 519 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,650 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 521 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,712 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.38 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 62 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.1544 บาท
2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ
สถานการณ์ข้าวเวียดนาม
สมาคมอาหารของเวียดนาม (The Viet Nam Food Association; VFA) รายงานว่า การส่งออกข้าวในช่วงวันที่ 1 — 10 มี.ค. 2554 มีจำนวน 201,635 ตัน มูลค่า 89.298 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการส่งออกข้าวนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. — 10 มี.ค. 2554 มีจำนวน 1.3 ล้านตัน มูลค่า 627.728 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
นอกจากนั้น สมาคมอาหารเวียดนาม ประกาศปรับราคาส่งออกขั้นต่ำ (Floor prices) ของข้าวขาว 25% ลงเหลือ 480 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน จากเดิม 490 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เอฟ.โอ.บี. ส่วนข้าวขาว 5% ปรับลดลงเหลือ 500 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน จากเดิม 520 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เอฟ.โอ.บี. โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 2554 เป็นต้นไป และนับเป็นการปรับราคาส่งออกขั้นต่ำครั้งที่ 5 ของปีนี้ เนื่องจาก ราคาข้าวในตลาดในช่วงนี้อ่อนตัวลงเพราะอุปทานข้าวในตลาดยังมีอยู่มาก ขณะที่ความต้องการเบาบางลง โดยราคาข้าวขาว 25% อยู่ที่ประมาณ 400 — 410 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เอฟ.โอ.บี. ส่วนข้าวขาว 5% อยู่ที่ประมาณ 430 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เอฟ.โอ.บี. และมีรายงานว่า บังคลาเทศจะซื้อข้าวจากเวียดนามประมาณ 200,000 ตัน แบ่งเป็นข้าวนึ่งจำนวน 100,000 ตัน ในราคา 575 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน C&F (Cost and freight) และข้าวขาว 15% จำนวน 100,000 ตัน ในราคา 530 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน C&F (Cost and freight)
อนึ่ง เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2554 นาย Nguyen Tan Dung นายกรัฐมนตรีของเวียดนามได้อนุมัติแผนการซื้อข้าวเพื่อเก็บสต็อกไว้ โดยแผนดังกล่าวจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. ไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2554 โดยรัฐบาลจะดำเนินการเพื่อซื้อข้าวเก็บสำรองไว้ในประเทศ 4 แนวทาง คือ การจัดประมูล การแนะนำทำสัญญา การจัดซื้อโดยตรง และการกำหนดราคาข้าว ทั้งนี้ การแนะนำทำสัญญา (Recommended contract) นั้น จะใช้สำหรับการซื้อข้าวเพื่อชดเชยส่วนที่ขาดในกรณีที่เกิดภาวะขาดแคลนข้าว เช่น เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ และรัฐบาลไม่สามารถจะจัดหาข้าวโดยการประมูลทั่วไปได้ ส่วนการซื้อขายโดยตรง (Direct purchase) สำหรับสัญญาที่มีการลงนามภายใน 6 เดือน และการเสนอราคาแข่งขัน (offer competitive prices) สำหรับการเสนอราคาต่ำกว่า 2 พันล้านดอง โดยกระทรวงการคลัง (The Minister of Finance) จะสั่งการให้มีการพิจารณาราคาสูงสุดสำหรับการซื้อ และกรมสำรองอาหาร (The General Department of State) จะซื้อข้าวในราคาที่กระทรวงการคลังกำหนดมา ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 14 — 20 มีนาคม 2554--