ความก้าวหน้าของการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนา ฉบับที่ 11

ข่าวทั่วไป Friday March 25, 2011 12:39 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. เร่งจัดทำแผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 เพื่อเริ่มใช้ในเดือนตุลาคม 2554 โดยดำเนินการให้เกิดการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจากทั่วประเทศ และเจาะลึกเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละยุทธศาสตร์

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้เริ่มดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 — 2559) ตั้งแต่ปี 2553 เพื่อเริ่มใช้ในเดือนตุลาคม 2554 โดยดำเนินการให้เกิดการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจากทั่วประเทศ ตลอดจนเจาะลึกเฉพาะ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละยุทธศาสตร์ ซึ่งการจัดทำแผนครั้งนี้ เป็นลักษณะการดำเนินงานจากการกำหนดนโยบายจากระดับบน (Top Down) และรับฟังความคิดเห็นและความต้องการจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Bottom Up) ดังนี้

1) ทบทวนสถานการณ์เศรษฐกิจและทรัพยากรการเกษตร ดำเนินการทบทวนสถานการณ์เศรษฐกิจ ทรัพยากรการเกษตร ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 จนถึงปัจจุบัน

2) จัดทำการประเมินสภาวะแวดล้อม (SWOT) ภาคการเกษตร โดยนำข้อคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทางการเกษตรที่ได้จากการตอบแบบสอบถาม มาประมวล และวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสำคัญหรือมีผลกระทบมากต่อภาคการเกษตร ทางด้านจุดแข็ง (Strengths) และจุดอ่อน (Weaknesses) ที่เป็นปัจจัยภายในที่มีผลต่อการพัฒนาการเกษตร และพิจารณาโอกาส (Opportunities) และภัยคุกคาม (Threats) ของสภาวะแวดล้อมของภาคการเกษตร ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก ที่จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการเกษตร โดยจัดทำตารางวิเคราะห์ TOWS Matrix เพื่อกำหนดกลยุทธ์เชิงรุก เชิงป้องกัน เชิงแก้ไข และเชิงรับ

3) จัดทำกรอบการพัฒนาภาคการเกษตร ในเบื้องต้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 จำนวน 9 ประเด็น ที่ครอบคลุมการดำเนินงานโดยรวมของภาคการเกษตร เพื่อใช้เป็นทิศทางดำเนินการสัมมนาระดมความเห็นประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ส่งเสริมการทำการเกษตรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมการทำการเกษตรในรูปแบบของการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจ (Cluster) ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภาคเกษตร เศรษฐกิจการเกษตรสีเขียว (Green and Cool Agricultural Economy) ความร่วมมือและข้อตกลงระหว่างประเทศ และการพัฒนากระทรวงเกษตรและสหกรณ์

4) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง เส้นทางสู่อนาคตการเกษตรไทย ในช่วงแผนพัฒนาการเกษตร ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 — 2559) เพื่อระดมความคิดเห็นและรวบรวมความต้องการ จากทุกภาคส่วนในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อเดือนมิถุนายน — กรกฎาคม 2553 จำนวน 4 ครั้ง ใน 4 ภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครอบคลุมพื้นที่ 19 จังหวัด ภาคใต้ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัด ภาคเหนือครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด และภาคกลางครอบคลุมพื้นที่ 26 จังหวัด โดยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนจากภาครัฐ เอกชน เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งสิ้น 650 คน เป็นเกษตรกร 210 คน

5) สำรวจข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Focus Group) 18 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ครอบคลุมความคิดเห็นและความต้องการในระดับพื้นที่มากที่สุด นอกเหนือจากจังหวัดที่ได้มีการจัดสัมมนา ครั้งแรก 4 ภาคแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาของภาคเกษตรที่จะใช้เป็นกรอบการดำเนินงานในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นรวม 668 คน เป็นเกษตรกร 202 คน

6) ยกร่างแผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 — 2559) โดยมีการประชุมหารือผู้เกี่ยวข้องทั้งจากภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภายนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื้อหาของแผนพัฒนาการเกษตร แบ่งสาระสำคัญ เป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ ทรัพยากร ปัจจัยเสี่ยงและภูมิคุ้มกัน ทางการเกษตร ส่วนที่ 2 วิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และยุทธศาสตร์การพัฒนา ส่วนที่ 3 การขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ และส่วนที่ 4 แผนงานสำคัญ ซึ่งนำความเห็นจากการระดมความคิดเห็นมาประมวลจัดทำเป็น (ร่าง) แผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 11 (พ.ศ. 2555 - 2559) ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ เป็นผู้มีความสามารถในการผลิตและการตลาด ก้าวสู่ผู้จัดการฟาร์ม ที่เป็นมืออาชีพ และสถาบันเกษตรกร / องค์กรเกษตรกร มีการดำเนินงานอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตการจัดสรรสินค้าเกษตร เพื่ออาหารและพลังงานอย่างเหมาะสม สร้างฐานการผลิตภาคเกษตรให้เข้มแข็ง ประชาชนมีอาหารบริโภคที่มีคุณภาพและปลอดภัย เป็นฐานการผลิตของภาคการผลิตอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความมั่นคงในอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกร เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต และพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรทั้งที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหาร พัฒนาผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการด้านอาหารและพลังงาน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างและพัฒนาการใช้ทรัพยากรการเกษตรและโครงสร้างพื้นฐานการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนเพื่อให้การใช้ทรัพยากรการเกษตรและโครงสร้างพื้นฐานการเกษตรมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์และมีความคุ้มค่า ฟื้นฟูทรัพยากรการเกษตรให้มีความเหมาะสมต่อการผลิต ทางการเกษตร สร้างภูมิคุ้มกันและเตรียมความพร้อมในการรองรับและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพัฒนาบุคลากรภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรและสหกรณ์ให้ดำเนินงานอย่างเต็มศักยภาพ วางระบบบูรณาการหน่วยงานให้มีกลไกเชื่อมโยง ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสภาเกษตรกร รวมทั้งพัฒนาข้อมูลสารสนเทศภาคการเกษตรและสหกรณ์ ให้สามารถขยายโอกาสให้รับรู้แก่ทุกภาคส่วนอย่างถูกต้อง สะดวก และรวดเร็ว ทั้งนี้ จะนำร่างแผนเพื่อจัดสัมมนาอีกครั้งหนึ่ง ประมาณเดือนพฤษภาคม 2554 และนำเสนอคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์และคณะรัฐมนตรีต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ