สศก. พยากรณ์ผลผลิตเกษตรเดือนมีนาคม เผย ผลไม้ 4 ชนิดภาคตะวันออกปีนี้ ผลผลิตมากกว่า 7 แสนตัน

ข่าวทั่วไป Friday March 25, 2011 12:45 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. เผยผลพยากรณ์ผลผลิตสินค้าเกษตรปี 54 ภาพรวมผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลไม้ภาคตะวันออก ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกองปีนี้ ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออกมีปริมาณมากกว่า 7 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.55 โดยผลผลิตออกสูงสุดช่วงต้นเดือนพฤษภาคม — ปลายเดือนมิถุนายนนี้

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึง การพยากรณ์ผลผลิตการเกษตร ณ เดือนมีนาคม 2554 สินค้าเกษตรที่สำคัญ พบว่า เนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปี และข้าวนาปรังยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงจูงใจของโครงการประกันรายได้ ส่งผลให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูก สำหรับพืชไร่ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และถั่วลิสง เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงานหรือมันสำปะหลังที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า

ด้านผลผลิตมันสำปะหลังโรงงานเพิ่มขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของเนื้อที่เก็บเกี่ยว และเกษตรกรมีความรู้ในการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งดีขึ้น ส่วนผลผลิตอ้อยโรงงานมีทิศทางเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากราคาอ้อยขั้นต้นปี 2553 ตันละ 945 บาท และเงินช่วยเหลือจากภาครัฐตันละ 105 บาท ซึ่งจูงใจให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูก สำหรับสับปะรดโรงงานผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายเนื้อที่เพาะปลูกโดยเฉพาะในแหล่งผลิตทางภาคเหนือ เช่นเดียวกับผลผลิตปาล์มน้ำมันและยางพารา ทิศทางเพิ่มขึ้น จากเนื้อที่ให้ผลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าผลผลิตในไตรมาสแรกจะลดต่ำกว่าทุกปี เนื่องจากผลกระทบจากภัยธรรมชาติในปีที่แล้ว ส่วนพริกไทยผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการออกดอกมาก และติดรวงดี ด้านผลผลิตกาแฟลดลงเนื่องจากเนื้อที่ให้ผลในภาคใต้ลดลงมาก

ส่วนกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง ภาพรวมผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่ขายได้ในปี 2553 อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับในปีนี้อากาศหนาวเย็นผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นยกเว้นหอมหัวใหญ่ ผลผลิตต่อไร่ลดลงเนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยในแหล่งผลิตจังหวัดเชียงใหม่ทำให้ผลผลิตเสียหาย และด้านปริมาณการผลิตปศุสัตว์ทุกชนิดในปี 2554 มีทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการบริโภคยังมีอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นปริมาณการผลิตโคเนื้อที่ยังคงลดลง

ด้านผลผลิตไม้ผลภาพรวมเพิ่มขึ้น ยกเว้นลิ้นจี่ ผลผลิตลดลงจากสภาพภูมิอากาศหนาวเย็นไม่ต่อเนื่องสลับหนาวสลับร้อน และมีฝนตกช่วงต้นเดือนมกราคมทำให้ลิ้นจี่แตกใบอ่อน โดยที่ประชุมคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออกปี 2554 เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้พิจารณาข้อมูลทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ปี 2554 ของ 3 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด และระยอง ณ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 (สสข.3 ระยอง) หลังจากที่ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลไม้ผลร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 (สศข.6) และสำนักงานเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ ในพื้นที่ที่มีการปลูกไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ซึ่งปีนี้ผลไม้ออกดอกล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา โดยสรุปในภาพรวม พบว่า ทุเรียน ของ 3 จังหวัดภาคตะวันออกปี 2554 มีเนื้อที่ยืนต้นจำนวน 288,783 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2553 จำนวน 2,539 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.89 เนื้อที่ให้ผลจำนวน 259,543 ไร่ ลดลงจำนวน 3,026 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 1.15 และผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 1,353 กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 121 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 9.82 ทำให้มีปริมาณผลผลิตโดยรวม 351,289 ตัน เพิ่มขึ้นจำนวน 27,916 ตัน คิดเป็นร้อยละ 8.63 ผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นมาก ผลจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยทำให้การติดดอกของทุเรียนเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมามาก ถึงแม้เนื้อที่ให้ผลจะลดลงจากการโค่นทิ้งเพราะเป็นโรคโคนเน่า ต้นแก่และด้วงเจาะต้นก็ตาม ทั้งนี้ราคาทุเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องมา 2-3 ปี ทำให้เกษตรกรสนใจดูแลรักษาและเริ่มหันมาปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน สำหรับการกระจายตัวของผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม โดยจะออกกระจุกตัวสูงสุดช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2554

เงาะ ของ 3 จังหวัดภาคตะวันอออกปี 2554 มีเนื้อที่ยืนต้นจำนวน 173,576 ไร่ ลดลงจากปี 2553 จำนวน 7,316 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 4.04 เนื้อที่ให้ผลจำนวน 167,087 ไร่ ลดลงจำนวน 6,806 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 3.91 และผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 1,422 กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 158 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 12.50 ทำให้มีปริมาณผลผลิตโดยรวม 237,592 ตัน เพิ่มขึ้นจำนวน 17,776 ตัน คิดเป็นร้อยละ 8.09 ผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีสภาพอากาศชื้นเข้ามาอีกระลอกตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ทำให้เงาะออกดอกเพิ่มขึ้นและมีหลายรุ่น ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าเนื้อที่ให้ผลลดลงจากการโค่นทิ้งเพราะเกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ยางพารา ขนุน ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น แต่ปริมาณการโค่นมีทิศทางที่ชะลอตัวแล้วเพราะราคาเงาะปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สำหรับการกระจายตัวของผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงกรกฎาคม โดยจะออกกระจุกตัวช่วงปลายมิถุนายน 2554

สำหรับ ลองกอง ของ 3 จังหวัดภาคตะวันอออกปี 2554 มีเนื้อที่ยืนต้นจำนวน 122,162 ไร่ ลดลงจากปี 2553 จำนวน 780 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.63 เนื้อที่ให้ผลจำนวน 100,883 ไร่ เพิ่มขึ้นจำนวน 5,800 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 6.10 แต่ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 655 กิโลกรัม ลดลง 17 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 2.53 ทำให้มีปริมาณผลผลิตโดยรวม 66,054 ตัน เพิ่มขึ้นจำนวน 2,178 ตัน คิดเป็นร้อยละ 3.41 ผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นจากขนาดต้นและทรงพุ่มที่โตขึ้นตามอายุ ปีนี้ลองกองแทงช่อดอกช้ากว่าปีปกติมาก โดยเฉพาะรุ่นที่เพิ่งเริ่มมีการแทงช่อดอกในช่วงปลายกุมภาพันธ์ ทำให้ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม สำหรับการกระจายตัวของผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงกันยายน โดยจะออกกระจุกตัวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2554 และ มังคุด ของ 3 จังหวัดภาคตะวันอออกปี 2554 มีเนื้อที่ยืนต้นจำนวน 200,021 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2553 จำนวน 41 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.02 เนื้อที่ให้ผลจำนวน 162,167 ไร่ เพิ่มขึ้นจำนวน 651 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.40 ส่วนผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 685 กิโลกรัม ลดลง 93 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 11.95 มีปริมาณผลผลิตโดยรวม 111,122 ตัน ลดลงจำนวน 14,528 ตัน คิดเป็นร้อยละ 11.56 ผลผลิตลดลงเนื่องจากปีที่ผ่านมามังคุดออกผลดกมาก ทำให้ปีนี้มังคุดเกิดการพักต้นสะสมอาหารและออกล่าช้ากว่าปกติ แต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมามีภาวะฝนตกทำให้มีความชื้นในอากาศเพิ่มขึ้นทำให้มังคุดแทงช่อดอกมามากขึ้น ดังนั้นผลผลิตในช่วงนี้ที่จะออกสู่ตลาดประมาณเดือนมิถุนายนอาจจะเกิดปัญหาเนื้อแก้วและยางไหล สำหรับการกระจายตัวของผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม โดยจะออกกระจุกตัวช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2554

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมไม้ผลภาคตะวันออกทั้ง 4 ชนิด มีปริมาณ 766,057 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา จำนวน 33,342 ตัน คิดเป็นร้อยละ 4.55 ซึ่งผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงกันยายน โดยในช่วงที่ผลผลิตออกสูงสุดคือช่วงต้นเดือนพฤษภาคมและปลายเดือนมิถุนายน ดังนั้นในช่วงวิกฤตินี้จำเป็นจะต้องมีมาตรการป้องกันและรับมือในการกระจายผลผลิตอย่างเร่งด่วน รวมทั้งรณรงค์ให้ผู้บริโภคช่วยกันบริโภคผลไม้ทั้ง 4 ชนิดให้มากขึ้นเช่นกัน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ