กระทรวงเกษตรฯ เตรียมพร้อมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ขยายตลาดสินค้าเกษตรไทย

ข่าวทั่วไป Friday March 25, 2011 12:48 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เกษตรฯ แจงสถานการณ์สินค้าเกษตรไทยกับอาเซียนปี 53 มีมูลค่าการค้ากว่า 2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 52 ร้อยละ 25 โดยเป็นมูลค่าการส่งออก 1 แสน 6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 52 ร้อยละ 28 ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่าเพียง 4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 52 ร้อยละ 15 ส่งผลภาพรวมไทยได้เปรียบดุลการค้าอาเซียนเป็นมูลค่ากว่า 1 แสน 2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 52 (ก่อนเปิด AFTA) ร้อยละ 34

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการดำเนินงานของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ภายในปี 2558 เพื่อให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน สามารถดำเนินการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินลงทุน และแรงงานฝีมือได้อย่างเสรี เพื่อขยายการค้าระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้อาเซียนจะเป็นตลาดที่มีประชากรรวมกันประมาณ 600 ล้านคน สามารถดึงดูดการลงทุนเข้ามาในภูมิภาค ดังจะเห็นได้จากความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศต่างๆ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ในกรอบ ASEAN+3 และออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ในกรอบ ASEAN+6 ซึ่งยิ่งเพิ่มศักยภาพและความน่าสนใจให้กับอาเซียน เนื่องจากความร่วมมือของอาเซียนในกรอบเหล่านี้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของโลกเอาไว้ อันหมายถึงตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก

สำหรับการดำเนินงานของไทยในการเข้าร่วม AEC นั้น ไทยได้ดำเนินการเปิดเสรีการค้าในกรอบอาเซียน(ASEAN Free Trade Area: AFTA) อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 โดยการทยอยลดภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการลงเหลือร้อยละ 0 (ยกเว้นสินค้าในบัญชีอ่อนไหว 4 รายการ คือ ไม้ตัดดอก เมล็ดกาแฟ มันฝรั่ง และเนื้อมะพร้าวแห้ง ที่ให้คงภาษีนำเข้าร้อยละ 5) และทยอยออกประกาศเพื่อยกเลิกมาตรการโควตาภาษีสำหรับสินค้า 23 รายการที่ไทยผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) โดยสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตร (ไม่รวมยางพารา) ระหว่างไทยกับอาเซียน ในปี 2553 ที่ผ่านมา พบว่ามีมูลค่าการค้า 215,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2552 คิดเป็นร้อยละ 25 โดยเป็นมูลค่าการส่งออก 167,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 28 ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่าเพียง 47,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 15 ทำให้ในภาพรวมไทยได้เปรียบดุลการค้าอาเซียนเป็นมูลค่า 120,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2552 (ก่อนเปิด AFTA) ร้อยละ 34

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้เพิกเฉยในการติดตามสถานการณ์การค้าในกรอบ AFTA และเขตการค้าเสรีอื่นๆ ได้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการติดตามและเฝ้าระวังการนำเข้าสินค้าเกษตรที่ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันติดตามสถานการณ์การค้า กำหนดแนวนโยบายและมาตรการในการบริหารการนำเข้า นอกจากนี้ยังมีคณะทำงานในระดับพื้นที่ในจังหวัดที่มีการค้าชายแดน 20 จังหวัด ทำหน้าที่ติดตามและรายงานสถานการณ์การค้าและปัญหาการลักลอบนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรที่เกิดขึ้นในพื้นที่เสนอต่อคณะกรรมการฯ ผ่านทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งได้รวบรวม สรุปผล และรายงานต่อผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประจำทุกเดือน สำหรับด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังมีกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) ให้การสนับสนุนเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับผลกระทบจาก AFTA เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งตั้งแต่ปี 2549—2553 กองทุน FTA กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้อนุมัติค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการของเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรไปแล้วเป็นเงิน 483.78 ล้านบาท และในปี 2554มีโครงการยื่นเสนอขอรับการสนับสนุนและอยู่ระหว่างการพิจารณาจำนวน 8 โครงการ เป็นเงิน 484.83 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ