สศก. แจงการดำเนินการเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน

ข่าวทั่วไป Friday March 25, 2011 12:49 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. เผย การเปิดเสรีการลงทุนสาขาที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรภายใต้แผนงานการไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2553 ประเทศไทยต้องดำเนินการเปิดเสรีการลงทุนในสาขาที่ผูกพันในรายการข้อสงวนเป็นการชั่วคราว ภายใต้ความตกลง AIA 3 สาขา โดยมี BOI กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักในการเจรจาเปิดเสรีภายใต้ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน (ACIA)

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาการเปิดเสรีการลงทุนสาขาที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรภายใต้แผนงานการไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community (AEC) Blueprint) โดยมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักในการเจรจาเปิดเสรีภายใต้ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน (ACIA) โดยในปี 2553 ประเทศไทยต้องดำเนินการเปิดเสรีการลงทุนในสาขาที่ผูกพันในรายการข้อสงวนเป็นการชั่วคราว (Temporary Exclusion list: TEL) ภายใต้ความตกลง ASEAN Investment Area (AIA) ทั้งสิ้น 3 สาขา ได้แก่ 1. การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2. การทำไม้จากป่าปลูก และ 3. การทำกิจการเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืช

โดยใน 3 สาขาดังกล่าว ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะทำหน้าที่เสนอความเห็นต่อ BOI ว่าสมควรเปิดเสรีการลงทุนใน 2 สาขาคือ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (รับผิดชอบโดยกรมประมง) และ การเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืช (รับผิดชอบโดย สศก.) หรือไม่ ส่วนสาขาการทำไม้จากป่าปลูกอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนของการเปิดเสรีการลงทุนสาขาเพาะขยายและปรับปรุงพันธุ์พืช ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรรับผิดชอบ ได้พิจารณาขอยืนยันท่าทีว่าควรสงวนการเปิดเสรีการลงทุนในสาขาดังกล่าว เนื่องจากไทยยังไม่พร้อมเปิดเสรีในสาขาดังกล่าวเพราะเป็นสาขาที่ไทยไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้และเป็นสาขาที่ใช้เงินลงทุนสูง หากเปิดเสรีอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรในระยะยาว โดยต่อมาคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ได้ให้ความเห็นชอบให้ขยายเวลาการเปิดเสรีการลงทุนใน 3 สาขาออกไปอีกระยะหนึ่งและให้คงกิจการทั้ง 3 ดังกล่าวไว้ในรายการข้อสงวนภายใต้ ACIA รวมทั้งมีมติให้ตั้งคณะทำงานแนวทางและผลกระทบในการเปิดเสรีการลงทุนภายใต้ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน ที่มีเลขาธิการ BOI เป็นประธาน เพื่อหารือและกำหนดแนวทางในการขอขยายเวลาในการเปิดเสรีภายใต้ความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เข้าเป็นผู้แทนร่วมกับหน่วยงานหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว และกรมประมงด้วย

ทั้งนี้ สศก. ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และ NGOs ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทางการเปิดเสรีการลงทุน ในระยะแรก (ปี 2553) ซึ่งได้ข้อสรุปว่า จะเปิดเสรีเฉพาะการเพาะขยายและปรับปรุงเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ เพราะเห็นว่าการเปิดเสรีการลงทุนในสาขาย่อยดังกล่าวจะไม่ส่งผลเสียต่อภาคเกษตร เนื่องจากการผลิตยังเป็นไปอย่างจำกัด ในทางตรงกันข้าม การเปิดเสรีน่าจะเป็นโอกาสที่ไทยได้เรียนรู้เทคโนโลยีขั้นสูงจากนักลงทุนต่างชาติ โดยทั้งสองสาขาเสนอให้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติจากร้อยละ 49 เป็นร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดตามกฎหมายที่มี ซึ่งข้อเสนอการเปิดเสรีระยะแรกดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม กนศ. เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 และอยู่ระหว่างการนำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ