สศก. วิเคราะห์สถานการณ์ภาคเกษตรไทยกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ข่าวทั่วไป Friday March 25, 2011 12:52 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. เผยผลการศึกษาภาคเกษตรไทยกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในรอบ 100 ปีที่ผ่านมากับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2050 และประเมินดัชนีความเหมาะสมของการเพาะปลูกพืชในสภาพภูมิอากาศปัจจุบัน - อนาคต พร้อมคาดการณ์ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อเศรษฐกิจและสังคม

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการศึกษาเรื่องภาคเกษตรไทยกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยผลการวิเคราะห์ข้อมูลภูมิอากาศระยะยาวในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่าภูมิอากาศค่อนข้างผันผวน โดยเฉพาะการกระจายของปริมาณน้ำฝนทั้งในระหว่างปีและภายในปีเดียวกัน ทำให้เกิดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่อระบบการเกษตร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากต่อเกษตรกรรายย่อย การวิเคราะห์ข้อมูลภูมิอากาศระหว่าง ปี ค.ศ.1900 ถึงปี 2005 โดยใช้ฐานข้อมูลของ Climate Research Unit (CRU) พบว่าตัวแปรภูมิอากาศมีความผันผวน แต่ก็ยังพบแนวโน้มคือ ในช่วงศตวรรษที่ 20 อุณหภูมิต่ำสุด อุณหภูมิเฉลี่ย และอุณหภูมิสูงสุดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ 1985 โดยอุณหภูมิต่ำสุดเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.1 - 1 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยและอุณหภูมิสูงสุดเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.0 — 0.8 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ ปริมาณฝนตกรายเดือนและปริมาณฝนเฉลี่ยต่อปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่มีความผันผวนของปริมาณฝนค่อนข้างสูง

การพยากรณ์จากแบบจำลองภูมิอากาศโลก (Global Climate Model) โดยใช้ภาพจำลองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) แบบ AIB ที่สมมติว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นสูงสุดช่วงกลางศตวรรษที่ 21 ความแตกต่างของการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคลดลง มีการยอมรับเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ และมีการลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลลง พบว่าภายในปี ค.ศ. 2050 อุณหภูมิต่ำสุดและอุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในปี 2010 และอุณหภูมิสูงสุดจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.8 องศาเซลเซียส ส่วนปริมาณน้ำฝนนั้นค่อนข้างผันผวนแล้วแต่พื้นที่ โดยปริมาณน้ำฝนต่อปีจะลดลงไม่เกิน 250 มิลลิเมตรในภาคกลาง และเพิ่มขึ้นไม่เกิน 600 มิลลิเมตรในภาคเหนือและภาคใต้ ปริมาณฝนตอนต้นฤดูและปลายฤดูฝนค่อนข้างคงที่ ยกเว้นในภาคตะวันออกและที่จะมีปริมาณฝนลดลงตอนต้นฤดู (เดือนพฤษภาคม) และภาคกลางที่จะมีปริมาณฝนลดลงตอนปลายฤดู (เดือนตุลาคม) ไม่เกิน 120 มิลลิเมตร และภาคใต้ที่จะมีฝนเพิ่มขึ้นไม่เกิน 200 มิลลิเมตรในเดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงปริมาณฝนระหว่างปีก็ค่อนข้างผันผวน อย่างไรก็ดี แบบจำลองยังมีข้อจำกัดในการพยากรณ์ภัยพิบัติต่างๆ ที่ต้องอาศัยความละเอียดมากทั้งช่วงเวลาและพื้นที่

ด้านการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมของภูมิอากาศในการเพาะปลูกพืชในปัจจุบันและพยากรณ์ความเหมาะสมในอนาคตปี ค.ศ. 2050 โดยใช้แบบ Ecocrop ที่วิเคราะห์ข้อจำกัดของการเพาะปลูกพืชเรื่องอุณหภูมิปริมาณน้ำฝน และช่วงเวลาในการเจริญเติบโต ข้อจำกัดที่สำคัญของ Ecocrop คือ (1) ไม่คำนึงถึงเรื่องผลกระทบที่มีต่อคุณภาพของผลผลิตและการเกิดศัตรูพืชและโรคพืช (2) การจัดเพาะปลูก (3) ปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคมซึ่งจะกระทบต่อการพัฒนาการการเพาะปลูก ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้พื้นที่เพาะปลูกจริงอาจจะแตกต่างไปจากพื้นที่มีภูมิอากาศเหมาะสมกับการเพาะปลูก ซึ่งผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมในการเพาะปลูกพืชของภูมิอากาศในปัจจุบันของพืช 15 ชนิดพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของดัชนีความเหมาะสมของพืชได้รับอิทธิพลจากปริมาณน้ำฝนมากกว่าอุณหภูมิ เช่น ทุเรียน ส้ม ปาล์มน้ำมัน เงาะ ยางพารา ถั่วเหลือง และมังคุด เป็นพืชที่มีดัชนีความเหมาะสมค่อนข้างสูงในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนต่อปีมากและมีดัชนีความเหมาะสมต่ำในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนต่อปีน้อยโดยเฉพาะในพื้นที่ตอนกลางของประเทศ พืช 4 ชนิดที่มีดัชนีความเหมาะสมสูงทั่วประเทศได้แก่ มันสำปะหลัง ลำไย ลิ้นจี่ และมะม่วง ส่วนสับปะรด ข้าวโพด และข้าว มีดัชนีความเหมาะสมค่อนสูงทั่วประเทศ อ้อยมีดัชนีความเหมาะสมค่อนข้างน้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งน่าจะเป็นเหตุที่อธิบายว่า เพราะเหตุใดผลผลิตต่อพื้นที่ปลูกอ้อยของไทยจึงต่ำกว่าประเทศอื่น โดยทั่วไปแล้วพื้นที่เพาะปลูกจริงกับพื้นที่ที่เหมาะสมในการเพาะปลูกในเชิงภูมิอากาศเป็นพื้นที่เดียวกัน

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในปี ค.ศ 2050 ทำให้ดัชนีความเหมาะสมการเพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพืช 8 ชนิด คือ ข้าวโพด มังคุด ปาล์มน้ำมัน ส้ม เงาะ ข้าว ถั่วเหลือง และอ้อย พืชสองชนิดที่มีดัชนีความเหมาะสมลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง และสับปะรด พืช 2 ชนิดที่ดัชนีความเหมาะสมบางพื้นที่เพิ่มขึ้นบางพื้นที่ลดลงคือ ทุเรียนและยางพารา พืชที่ดัชนีความเหมาะสมไม่เปลี่ยนแปลง คือลำไย ลิ้นจี่ และมะม่วง พืช 8 ชนิดที่มีดัชนีความเหมาะสมเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภาคเหนือ อ้อยจะได้รับผลดีจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง มันสำปะหลังจะเป็นพืชที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ในขณะที่ดัชนีความเหมาะสมในการเพาะปลูกยางพาราในภาคใต้ลดลง

ด้านการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจ พบว่า ดัชนีความเหมาะสมในการเพาะปลูกพืชจะมีผลต่อผลผลิตต่อพื้นที่ การศึกษาผลกระทบต่อเศรษฐกิจในเบื้องต้นพบว่าผลผลิตต่อไร่ในปี 2050 อาจจะลดลง โดยมันสำปะหลังลดลงร้อยละ 6.64 สับปะรดลดลงร้อยละ 4.73 และ ยางพารา ร้อยละ 11.13 เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยในปัจจุบัน หากพื้นที่เพาะปลูกไม่เปลี่ยนแปลงผลผลิตมันสำปะหลังจะลดลงประมาณ 3.4 ล้านตัน สับปะรดลดลง 0.23 ล้านตัน และยางพาราลดลง 0.49 ล้านต้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 1.1พันล้านดอลล่าร์สหรัฐในปี 2050 โดยยางพาราจะได้รับความเสียหายมากที่สุดมูลค่าเกือบหนึ่งพันล้านดอลล่าร์ ผลการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสวัสดิการสังคมพบว่าผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบมากสุดประมาณร้อยละ 90 จากการเปลี่ยนแปลงส่วนเกินผู้บริโภคและส่วนเกินผู้ผลิต โดยเฉพาะยางพาราและสับปะรด

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาเป็นรายงานเบื้องต้น กำลังอยู่ในระหว่างการปรับค่าตัวแปรต่างๆให้สอดคล้องกับตัวแปรในประเทศ นอกจากนี้จะทำการเพิ่มข้อมูลชุดดิน เพื่อปรับผลการศึกษาให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ประมาณกลางปี 2554 นี้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

แท็ก ภูมิอากาศ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ