ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Monday March 28, 2011 14:36 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์สุกรในสัปดาห์นี้ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาโรค PRRS ที่ผ่านมา ทำให้มีสุกรบางส่วนเสียหาย ส่งผลให้ปริมาณสุกรออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรยังคงมากขึ้น แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือสูงขึ้นเล็กน้อย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 60.54 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 60.23 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.51 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 58.43 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 59.40 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 61.83 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 58.40 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 2,000 บาท (บวกลบ 62 บาท) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 62.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 61.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.63 และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 72.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 71.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.40

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณไก่เนื้อและไก่ใหญ่ที่ออกสู่ตลาดมีไม่มากนัก ส่งผลให้ราคาไก่เนื้อปรับตัวสูงขึ้น แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือสูงขึ้นเล็กน้อย

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด จากเหตุแผ่นดินไหวและการเกิดคลื่นสึนามิในญี่ปุ่นมีผลกระทบต่อโรงงานอาหารสัตว์ และพื้นที่การเพาะเลี้ยงปศุสัตว์หลายแห่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในจังหวัดมิยางิ ฟูกูชิมะ และอิวาเตะ ที่ได้รับความเสียหายอย่างมาก ซึ่งใน 3 จังหวัดดังกล่าวเป็นพื้นที่ผลผลิตไก่เนื้อประมาณ ร้อยละ 20 หากผลผลิตได้รับความเสียหายทั้งหมด จะทำให้ญี่ปุ่นต้องนำเข้าเนื้อไก่เพิ่มขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศ ประกอบกับญี่ปุ่นพบปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในช่วงต้นปี 2554 ส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องกำจัดไก่เนื้อประมาณ 2 แสนตัว ศูนย์วิจัยฯ คาดว่าจากปัจจัยข้างต้นจะช่วยส่งผลให้ผู้ส่งออกไก่ของไทยได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความต้องการนำเข้าเนื้อไก่ของญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2554 ประมาณ 2.01 ล้านตัน แบ่งเป็นการผลิตเอง 1.275 ล้านตัน หรือ ร้อยละ 63.4 ของปริมาณความต้องการบริโภคเนื้อไก่ทั้งหมด และนำเข้า 7.35 แสนตัน ปริมาณการผลิตไก่เนื้อในประเทศญี่ปุ่นประมาณ ร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตไก่เนื้อทั้งหมด หรือประมาณ 0.38 ล้านตัน ทั้งนี้จากการบริโภคเนื้อไก่ในครัวเรือนของญี่ปุ่นมีสัดส่วนถึง ร้อยละ 60 ของการบริโภคเนื้อไก่ทั้งหมด กลุ่มธุรกิจบริการอาหาร ร้อยละ 30 และอุตสาหกรรมแปรรูป ร้อยละ 10 อย่างไรก็ตามเรื่องที่ต้องพิจารณา คือ การแข่งขันกับคู่แข่งสำคัญอย่างจีนที่ราคานำเข้าไก่แปรรูปถูกกว่าไทยมากในระดับเฉลี่ย 4,070.40 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ขณะที่นำเข้าไก่แปรรูปจากไทยในระดับเฉลี่ย 4,522.79 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ไทยยังมีความได้เปรียบในเรื่องความหลากหลายของสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคญี่ปุ่นได้อย่างครบถ้วน รวมทั้งยังมีภาพลักษณ์ที่ดีในเรื่องความปลอดภัยของสินค้า ไม่เคยมีประวัติในเรื่องสารปนเปื้อนและสารตกค้าง ศูนย์วิจัยฯ คาดว่ามูลค่าส่งออกไก่แปรรูปของไทยไปญี่ปุ่นในปี 2554 จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 15.0 เทียบกับ ร้อยละ 11.5 ในปี 2553 ดังนั้นไทยควรเร่งเพิ่มปริมาณการผลิตไก่เนื้อตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่น หลังพบวิกฤตการณ์ภัยธรรมชาติแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นยังต้องเผชิญหน้ากับการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในฟาร์มสัตว์ปีกที่เมือง Chibaจังหวัด Kanto ซึ่งถือว่าเป็นการระบาดครั้งแรกในญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่เมือง Chiba ได้ทำลายสัตว์ปีกในฟาร์มที่ติดเชื้อไปแล้ว 35,000 ตัว และห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกที่อยู่บริเวณโดยรอบรัศมี 10 กิโลเมตร โดยเมือง Chiba ถือเป็นจังหวัดที่เลี้ยงสัตว์ปีกมากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 47.19 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 47.14 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.11 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 46.52บาท ภาคะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 47.29 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 47.44 บาท และภาคใต้กิโลกรัมละ 47.65 บาท ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 20.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 46.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 48.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 4.12 และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 59.00 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 59.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.84

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดไข่ไก่สัปดาห์นี้ ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาโรคระบาดทำให้อัตราการให้ไข่โดยรวมลดลง ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ปริมาณไข่ไก่ออกสู่ตลาดน้อย และคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ประชุมเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ได้สรุปสถานการณ์การผลิตปัจจุบัน มีแม่ไก่ไข่ยืนกรงจำนวน 38 - 39 ล้านตัว ปัญหาโรคระบาดที่เกิดขึ้นในระบบการเลี้ยงไก่ไข่ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 เป็นต้นมา ทำให้อัตราการให้ไข่โดยรวมลดลงร้อยละ ๒๐ ส่งผลให้ผลผลิตไข่ไก่ที่ออกสู่ตลาดลดลงจากวันละ 30 - 31 ล้านฟอง เหลือวันละ 24 - 25 ล้านฟอง ในขณะที่ความต้องการบริโภคไข่ไก่ในประเทศอยู่ที่ประมาณวันละ 26 — 27 ล้านฟอง ส่งผลให้ราคาไข่ไก่ยังคงอยู่ในระดับสูง แนวโน้มคาดว่าราคาจะสูงขึ้น

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 295 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 288 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 2.43 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 289 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 283 บาท ภาคกลางร้อยฟอง 296 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 304 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 28.00 บาท สูงขึ้นจากตัวละ 26.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 7.70

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 325 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 315 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 3.17

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 308 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 304 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.32 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 307 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 322 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 289 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 325 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 360 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 45.94 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 45.71 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.50 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 50.96 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 40.07 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 48.54 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 49.87 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 35.85 สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 35.47 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.07 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 51.40 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 32.74 บาท ภาคกลางและภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 21 — 27 มีนาคม 2554--

-พห-

แท็ก เกษตรกร   สุกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ