สศก. แจงภาวะความยากจนของครัวเรือนในภาคเกษตร

ข่าวทั่วไป Thursday March 31, 2011 13:11 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. แจงผลการศึกษาภาวะความยากจนของครัวเรือนในภาคเกษตร ปีเพาะปลูก 2551/52 พบ ครัวเรือนประมาณ 7.211 ล้านคน หรือร้อยละ 29 มีรายได้ต่ำกว่าระดับเส้นความยากจน โดยเฉพาะครัวเรือนเกษตรในภาคอีสาน และยังมีความเหลื่อมล้ำของรายได้ค่อนข้างสูง แนะขยายโอกาสทางด้านศึกษาให้กับครัวเรือนในภาคเกษตร และสนับสนุนการใช้ที่ดินให้เต็มพื้นที่และเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการศึกษาภาวะความยากจนของครัวเรือนในภาคเกษตร ปีเพาะปลูก 2551/52 พบว่า ครัวเรือนร้อยละ 29 หรือประมาณ 7.211 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่าระดับเส้นความยากจน โดยครัวเรือนเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีกลุ่มครัวเรือนยากจนมากที่สุด และเมื่อแบ่งระดับรายได้ของครัวเรือนเกษตรออกเป็น ระดับจนมาก จนน้อย และเกือบจน พบว่า ในจำนวนคนจนทั้งหมด อยู่ในระดับจนมากร้อยละ 21 และระดับจนน้อยร้อยละ 8 ของคนจนทั้งหมด ส่วนครัวเรือนที่เกือบจน ประมาณร้อยละ 9 ของครัวเรือนที่หลุดพ้นจากความยากจน (มีรายได้มากกว่าเส้นยากจน) คิดเป็นจำนวน 1.560 ล้านคน ถือว่าเป็นกลุ่มประชากรเสี่ยงต่อการตกอยู่ในภาวะความยากจนในอนาคต

          ถ้าแบ่งครัวเรือนเกษตรทั้งหมดออกเป็น 5 กลุ่ม สัดส่วนระหว่างกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด (20% แรกที่จนสุด) มีรายได้เฉลี่ยร้อยละ 3 กับกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด (20% สุดท้ายที่รวยสุด) มีรายได้แฉลี่ยร้อยละ 58              ซึ่งแตกต่างกันถึง 18 เท่า แต่หากจำแนกรายได้ของครัวเรือนออกเป็นชั้นรายได้ 10 ชั้น พบว่า เมื่อเวลาผ่านไป รายได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกชั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 ชั้นแรก ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเส้นยากจน  ในขณะเดียวกันสัดส่วนครัวเรือนที่อยู่ในชั้นรายได้ดังกล่าวมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม เมื่อนำรายได้ของครัวเรือนเกษตรไปคำนวณหาดัชนีความไม่เท่าเทียมกันของการกระจายรายได้ พบว่า อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง หมายความว่า มีความแตกต่างหรือมีความเหลื่อมล้ำของรายได้ค่อนข้างสูง ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อความเหลื่อมล้ำในรายได้ของครัวเรือนเกษตรคือ ประเภทฟาร์ม ขนาดการถือครองที่ดิน และการอยู่ในเขตและนอกเขตชลประทาน

ทั้งนี้ การหาทางช่วยเหลือกลุ่มครัวเรือนเกษตรยากจนและเกือบจนเพื่อยกระดับการดำรงชีพให้ดีขึ้น แนวทางในการปรับปรุงคือ ขยายโอกาสทางด้านศึกษาให้กับครัวเรือนในภาคเกษตร สนับสนุนการใช้ที่ดินให้เต็มพื้นที่และเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด สนับสนุนการจัดหาที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรที่ยากจนในฟาร์มขนาดเล็กควรเลือกทำกิจกรรมฟาร์มให้เหมาะสมกับขนาดของพื้นที่และสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีบางส่วนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมฟาร์ม เสริมสร้างกิจกรรมการผลิตนอกการเกษตรของครัวเรือนควบคู่ไปกับกิจกรรมฟาร์มเพื่อเป็นแหล่งรายได้เสริม เสริมสร้างระบบการจัดการแหล่งน้ำเพื่อให้เกิดการจัดการร่วมกันระหว่างชุมชนกับรัฐในการดูแลรักษา และในกลุ่มครัวเรือนเกษตรที่ยากจนควรเสริมกิจกรรมการผลิตแบบพึ่งพาตนเอง ลดการพึ่งพาตลาดเพื่อการบริโภคของครัวเรือน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

แท็ก ภาคอีสาน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ