สศก. แนะแนวทางการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนสู่ความเข้มแข็ง

ข่าวทั่วไป Friday April 1, 2011 13:12 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) แนะแนวทางการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในนิคมการเกษตร โดยการสร้างความเข้าใจให้สมาชิกรู้จักบทบาทขององค์กร การสร้างกฎระเบียบที่เหมาะสม การเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิก และเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมและการบริหารจัดการ จะช่วยให้วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ดังกล่าเวกิดความเข้มแข็งได้

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตรได้ทำการศึกษาการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในนิคมการเกษตรในทุกภาคทั่วประเทศ พบว่า กิจกรรมโดยส่วนใหญ่ที่กลุ่มสมาชิกดำเนินงานเป็นกิจกรรมการผลิตและใช้วัตถุดิบในพื้นที่เป็นหลัก มีการใช้แรงงานจากสมาชิกกลุ่มและแรงงานจ้างร่วมกันทำการผลิต ส่วนเงินทุนนั้นส่วนใหญ่ได้มาจากค่าหุ้นของสมาชิก การจำหน่ายผลผลิตมีทั้งในรูปเงินสดและเงินเชื่อ โดยช่องทางการจำหน่ายร้อยละ 90 เป็นการจำหน่ายในชุมชน

จากการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคของวิสาหกิจชุมชน พบว่า วิสาหกิจชุมชนมีจุดแข็งที่สำคัญ คือได้เปรียบด้านวัตถุดิบเนื่องจากมีวัตถุดิบอยู่ในพื้นที่ ไม่ต้องนำเข้าจากภายนอก จุดอ่อน คือการขาดแคลนเงินทุนและความเข้าใจหลักการของวิสาหกิจชุมชน สำหรับโอกาส คือ รัฐมีนโยบายในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและพื้นที่นิคมการเกษตร ส่วนอุปสรรค คือเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ยังไม่เข้าใจหลักการของวิสาหกิจชุมชนเท่าที่ควร รวมทั้งการขาดแคลนแหล่งน้ำ สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนสู่ความเข้มแข็งมี 4 ปัจจัยที่สำคัญ คือ การรู้จักบทบาทองค์กร กฎระเบียบข้อบังคับ การเพิ่มรายได้ให้สมาชิกหรือกลุ่ม และความพึงพอใจของสมาชิกในวิสาหกิจชุมชน

ดังนั้น การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่นิคมการเกษตรให้ไปสู่ความเข้มแข็งจึงจำเป็นต้องเน้นในเรื่องการสร้างความเข้าใจให้สมาชิกรู้จักบทบาทองค์กรวิสาหกิจชุมชน การสร้างกฎระเบียบต่างๆ ที่เหมาะสม การเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกหรือกลุ่มโดยการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตและการตลาดเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมภายในกลุ่มมีประสิทธิภาพและมีรายได้มากขึ้น รวมทั้งทำให้สมาชิกมีความพอใจในวิสาหกิจชุมชนโดยการมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นทั้งในส่วนของการดำเนินกิจกรรมและการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชน อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงคุณภาพเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐาน การสนับสนุนเงินทุนและปัจจัยการผลิต การหาข้อมูลด้านการตลาดเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย ก็เป็นสิ่งที่ภาครัฐยังต้องให้การสนับสนุนด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ