สศก. ติดตามผลการดำเนินการโครงการสร้างความเข้มแข็งทางด้านการผลิต การตลาด และการแปรรูปของสถาบันเกษตรกร ปีงบประมาณ 2554 พบ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรแล้ว 5 แห่ง จำนวน 102 ราย พร้อมสนับสนุนเงินอุดหนุนผ่านสถาบันเกษตรกรให้สมาชิกแล้วรายละ 22,500 บาท
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการสร้างความเข้มแข็ง ด้านการผลิต การตลาด และการแปรรูปของสถาบันเกษตรกร มาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสมาชิกสถาบันเกษตรกรที่ประกอบอาชีพปศุสัตว์ (โคเนื้อ แพะนม แพะเนื้อ แกะ เป็ด ไก่) และประมงในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยปีงบประมาณ 2554 ได้รับงบประมาณดำเนินการ 32,468,400 บาท ซึ่งมีเป้าหมายอบรมสมาชิกของสถาบันเกษตรกร ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา (อำเภอจะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา) รวมทั้งสิ้น 1,340 ราย
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยศูนย์ประเมินผล ได้ติดตามผลการดำเนินงานโครงการฯ ปีงบประมาณปี 2554 ในพื้นที่จังหวัดสงขลา พบว่า มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การตลาด และการแปรรูป จำนวน 1 ครั้ง ให้กับสมาชิกสหกรณ์/ กลุ่มเกษตรกร 5 แห่ง จำนวน 102 ราย สนับสนุนเงินอุดหนุน (เงินทุนจ่ายขาด) ผ่านสถาบันเกษตรกร (สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกร) แห่งละ 450,000 บาท โดยสถาบันเกษตรกรได้จัดสรรให้สมาชิกเรียบร้อยแล้วรายละ 22,500 บาท (ไม่มีดอกเบี้ย) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2554 ส่วนกำหนดการคืนเงินทุนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสถาบันเกษตรกรแต่ละแห่งและมีการประชุมเครือข่ายในระดับจังหวัดแล้ว 1 ครั้ง จากเป้าหมายจังหวัดละ 4 ครั้ง/ปี
สำหรับ ผลการดำเนินงานโครงการฯ ปีงบประมาณ 2553 ในพื้นที่จังหวัดสงขลา พบว่า สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสงขลาดำเนินการในพื้นที่อำเภอจะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา รวม 5 แห่ง ส่วนใหญ่ทำกิจกรรมเลี้ยงโคเนื้อโคนม และแพะเนื้อ ซึ่งสมาชิกได้ส่งเงินคืนสหกรณ์เรียบร้อยแล้ว และสหกรณ์ได้นำไปพิจารณาจัดสรรให้กลุ่มอื่นต่อไป และจากการติดตามผลการดำเนินงานของกลุ่มโคบาย บ้านเกาะสะบ้า อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการฯ ในปีงบประมาณ 2553 พบว่า กลุ่มฯ ได้เลี้ยงโคเนื้อพันธุ์ลูกผสม (บราห์มัน, ชาโลเล่ย์) เพื่อขุนขาย ต่อยอดมาจากโครงการส่งเสริมการพัฒนากลุ่มอาชีพตั้งแต่ปี 2546 มีสมาชิกทั้งหมด 18 คน ในปี 2553 ได้รับการสนับสนุนเงินทุน 540,000 ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มฯ เลี้ยงโคเนื้อรวมทั้งสิ้น 67 ตัว ซึ่งในปีที่ผ่านมากลุ่มฯ สามารถทำกำไรจากการขุนโคขายได้ประมาณตัวละ 3,500 — 4,000 บาท คุณภาพของเนื้อโคที่ได้มีคุณภาพดี ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนประสบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน คือ โคฝูงที่ซื้อมามีปัญหาโรคแท้งติดต่อ และบางตัวบาดเจ็บจากการขนส่ง ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยง ของกลุ่มฯ จึงจำเป็นต้องขายโคออกไป โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการ สรรหาแหล่งจัดซื้อของปศุสัตว์มาทดแทนส่วนที่ขายไป
นอกจากนี้ การซื้อโคฝูงทำให้ไม่สามารถทราบสายพันธุ์ที่แน่นอน ไม่สามารถคัดเป็นพ่อพันธุ์ — แม่พันธุ์ได้ หากมีปัญหาสมาชิกรายใดไม่ให้ความใส่ใจกับการเลี้ยงโคเท่าที่ควร กลุ่มฯ ก็จะให้สละสิทธิ์การเลี้ยงและนำไปให้สมาชิกรายอื่นเลี้ยงแทนเพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องคุณภาพโค อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กลุ่มโคบายจะประสบกับปัญหาแต่กลุ่มฯ มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพ และมีความพร้อมที่จะทำกิจกรรม สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งคาดว่าโครงการฯ จะสามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มฯ ได้อย่างยั่งยืน นายอภิชาต กล่าว
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--