จังหวัดราชบุรี เปิดโครงการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ จ.ราชบุรี เพื่อใช้ในการเกษตรแก้วิกฤติภัยแล้งโดยสามารถส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่ ต.บ้านบึง อ.บ้านคา รวม 3,500ไร่ โดย สศข.10 ลงพื้นที่สำรวจครัวเรือนเกษตรกรตัวอย่างตามโครงการฯ เพื่อเตรียมเปรียบเทียบภายหลังการดำเนินโครงการอีกครั้งในรอบ 6 เดือน
สมมาตร ยิ่งยวด ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 10 (สศข.10) จังหวัดราชบุรี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการเปิดโครงการนำร่องพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรแบบบูรณาการ ของจังหวัดราชบุรี ซึ่งได้มีพิธีเปิดโครงการไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2554 ณ บริเวณหัวจ่ายน้ำในโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยท่าเคย หัวจ่ายที่ 5 LM บ้านห้วยสวนพลู ต.บ้านบึง อ.บ้านคา จ.ราชบุรี โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จ.ราชบุรี ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการเป็นพื้นที่นำร่อง ในพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำในการปลูกพืชฤดูแล้ง เพื่อสามารถส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่ ต.บ้านบึง อ.บ้านคา รวม 3,500 ไร่ และ เป็นการส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในด้านบริหารจัดการ การผลิตให้ภาคการเกษตร และเกษตรกรได้รับประโยชน์จากการใช้น้ำปลูกพืชในฤดูแล้งช่วงหลังฤดูการทำนา อันจะนำไปสู่ความอยู่ดีกินดีของพี่น้องเกษตรกรใน จ.ราชบุรีต่อไป
ในการนี้ สศข.10 ได้ลงพื้นที่สำรวจครัวเรือนเกษตรกรตัวอย่างตามโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยท่าเคย จ.ราชบุรี ก่อนขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งพบว่า ข้อมูลพื้นฐานของครัวเรือนเกษตรกรตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 63.64 ประกอบอาชีพการเกษตร ซึ่งมีพื้นที่ทำการเกษตรเฉลี่ย ครัวเรือนละ 25.33 ไร่ มีรายได้ครัวเรือนเกษตรรวม 446,415.99 บาท/ครัวเรือน/ปี รายจ่ายครัวเรือนเกษตรรวม 180,005.24 บาท/ครัวเรือน/ปี ดังนั้น รายได้สุทธิครัวเรือนเกษตร เท่ากับ 266,410.75 บาท/ครัวเรือน/ปี และปัญหาเรื่องน้ำในปีที่ผ่านมาพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีน้ำเพาะปลูกพืชในฤดูแล้ง โดยภายหลังการดำเนินโครงการฯ สศข.10 จะร่วมติดตามผลสำรวจครัวเรือนเกษตรกรอีกครั้งในรอบ 6 เดือนเพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานทั้งก่อนและหลังการดำเนินงานตามโครงการฯ ต่อไป
ทั้งนี้ โครงการนำร่องพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรแบบบูรณาการ เป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการเพื่อจัดหาแหล่งน้ำให้ทั่วถึง เพิ่มพื้นที่ชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากน้ำให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการมุ่งเน้นให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคเกษตรของประเทศในเขตพื้นที่ พัฒนาแหล่งน้ำ แบบบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--