1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา(14 — 20 ก.พ. 2554) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 952.79 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 496.42 ตัน สัตว์น้ำจืด 456.37 ตัน
ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 2.16 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 3.72 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 87.79 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 12.38 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 73.30 ตัน
การตลาด
พิษน้ำท่วมใต้ดันราคากุ้งปรับตัวสูงขึ้น 5 %
นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทยเปิดเผยว่า ปัญหาสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง บวกกับฝนตกทางภาคใต้ ขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกร ทำให้คาดว่าช่วงนี้ปริมาณกุ้งจะออกน้อยลง และอาจส่งผลกระทบต่อราคากุ้งสูงขึ้นประมาณ 5 % รวมทั้งมีปัจจัยเสริมที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศ ทำให้กุ้งกินอาหารน้อยลง จึงคาดว่าปริมาณกุ้งที่ออกสู่ตลาดจะลดลงด้วย ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ทำให้จังหวัด สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ได้รับผลกระทบมากที่สุด และคาดว่ากระบี่ พังงา จะได้รับผลกระทบตามมา แต่เบื้องต้นเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้รับความเสียหายแน่นอน ส่งผลให้ราคากุ้งแพงขึ้นช่วงเดือนมีนาคม — เมษายน แต่ คาดว่าช่วงเดือนเมษายน — พฤษภาคม ราคากุ้งจะถูกลง เพราะปริมาณกุ้งออกสู่ตลาดมากขึ้น แต่จากการสำรวจความเสียหายต้องรอให้ฝนหยุดตก ส่วนภาพรวมการส่งออกกุ้งปีนี้ ยังไม่มีผลกระทบมาก ปริมาณส่งออกยังปกติ แต่ห่วงการส่งออกกุ้งไทยไปญี่ปุ่นที่ต้องหยุดชะงัก โดยถือว่าญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ เลขาธิการสมาคมกุ้งไทย และประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม ปัญหาน้ำท่วมสร้างความเสียหายแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมจำนวน 200 บ่อ ทำให้กุ้งขาวเสียหายจำนวน 2,000 ตัน ประกอบกับช่วงนี้ปริมาณกุ้งขาวออกสู่ตลาดน้อย จึงคาดว่าราคากุ้งขาวน่าจะปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาที่สำคัญที่สุดไม่ใช่เรื่องราคากุ้งสูงขึ้น แต่เป็นปัญหาการขาดแคลนกุ้งในการส่งออก และ คาดว่าจากปัญหาภัยน้ำท่วม ฝนตก ซึ่งเร่งให้เกิดโรคระบาดในกุ้ง จะทำให้ผลผลิตกุ้งปีนี้ลดลงเหลือเพียง 5.5 แสนตัน ต่ำกว่าเป้าที่คาดไว้ 6.7 แสนตัน ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกกุ้งปีนี้จะลดลง 10 — 15 % จากปีที่ผ่านมา
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 42.31 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 40.13 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 2.18 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคา
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 59.08 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 59.49 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.41 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 120.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 146.70 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 145.23 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.47 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 155.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 153.33 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.67 บาท
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 54.95 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 65.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 10.05 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 70.00 บาท ลดลงจาก กิโลกรัมละ 70.71 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.71 บาท
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 90.00 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 124.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 34.00 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 145.71 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 141.43 บาท ของสัปดาห์ก่อน 4.28 บาท
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 9.82 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 26 มี.ค. 1 เม.ย. 2554) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 32.96 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 39.67 บาท ของสัปดาห์ก่อน 6.71 บาท
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 28 มีนาคม - 3 เมษายน 2554--