ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวทั่วไป Tuesday April 5, 2011 15:08 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1.1.1 สศก. คาดการณ์ข้าวนาปรัง ปี 2554

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์การผลิตข้าวนาปรัง ปี 2554 ณ เดือนมีนาคม 2554 มีพื้นที่ปลูก 15.459 ล้านไร่ ผลผลิตข้าวเปลือก 9.420 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 609 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2553 ทั้งพื้นที่ปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.55 ร้อยละ 6.29 และร้อยละ 4.64 ตามลำดับ

พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้น เนื่องจากน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำตามธรรมชาติช่วงต้นฤดูแล้งมีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2553 และบางพื้นที่ชลประทานปล่อยน้ำให้เพาะปลูกข้าวนาปรังเพื่อชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม แต่พื้นที่เพิ่มขึ้นไม่มากเนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รณรงค์ให้ชาวนางดการปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 และให้ชลประทานปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรตามมาตรการการบริหารน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกข้าวนาปีในต้นฤดูฝน ปี 2554 รวมทั้งภาคตะวันตกประสบปัญหาแห้งแล้ง เขื่อนปราณบุรีและเขื่อนแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำน้อยมาก กรมชลประทานงดส่งน้ำเพื่อการเกษตร ส่งผลให้พื้นที่ลดลงในจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมผลผลิตต่อไร่และผลผลิตรวมเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก

ผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2554 และออกสู่ตลาดมากในเดือนมีนาคม ปริมาณ 2.30 ล้านตัน (ร้อยละ 24.41 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด) และเดือนเมษายนปริมาณ 3.97 ล้านตัน (ร้อยละ 42.11 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด) รวม 2 เดือน ผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 6.27 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 66.52 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด ดังนี้

1.1.2 กขช. ขยายมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปี 2553/54

การประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2554 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2554 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ

1) โครงการแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือก ปี 2553/54 (ตั้งโต๊ะรับซื้อ) ดังนี้

(1) เป้าหมายดำเนินการ 500,000 ตัน วงเงิน 5,050 ล้านบาท แยกเป็น วงเงินกู้หมุนเวียน 5,000 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 50 ล้านบาท

(2) ดำเนินการตั้งโต๊ะโดยโรงสีที่เข้าร่วมโครงการกับ อตก. และ อคส. รับซื้อข้าวในราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง ณ ความชื้น 15%

(3) พื้นที่ดำเนินการ ในแหล่งที่ปลูกข้าวมากและราคาซื้อขายในตลาดต่ำกว่าราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงมาก ทั้งนี้การเปิดจุดรับซื้อจะต้องได้รับการพิจารณาจากผู้ว่าราชการจังหวัด (ประธาน กขช. ระดับจังหวัด) ว่าตกต่ำจริง

2) โครงการเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าว

โดยรัฐบาลสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวหรือสถาบันเกษตรกรประเภทโรงสีข้าวและตลาดกลางที่เข้าร่วมโครงการฯ ธนาคารพาณิชย์ให้กู้ยืม Packing Credit เพื่อซื้อข้าวเปลือกในช่วงที่ข้าวออกสู่ตลาดมากเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2554 โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือนนับแต่วันกู้ ระยะเวลาโครงการสิ้นสุดเดือนสิงหาคม 2554 วงเงินงบประมาณ 103 ล้านบาท โดยแยกเป็นวงเงินชดเชยดอกเบี้ย 100 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 3 ล้านบาท

3) เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาโครงการรับฝากข้าวเปลือกในยุ้งฉางของ ธ.ก.ส. เพื่อรอการจำหน่าย ปี 2553/54 จากเดิมสิ้นสุด 31 มีนาคม 2554 เป็นสิ้นสุด 30 เมษายน 2554

1.2 การตลาด

1.2.1 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 (รอบ 2)

มติ ครม. เมื่อวันที่ 15 ก.พ.54 และ 8 มี.ค. 54 เห็นชอบการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 รอบที่ 2 ดังนี้

          -  การขึ้นทะเบียนเกษตรกร    4 ม.ค. — 31 พ.ค.54    ภาคใต้  1 เม.ย. - 15 ก.ค. 54
          -  การประชาคม           20 ม.ค. — 15 มิ.ย.54    ภาคใต้  2 พ.ค.  — 31 ก.ค  54
          -  ออกใบรับรอง           20 ม.ค. — 30 มิ.ย.54    ภาคใต้  2 พ.ค.  — 15  ส.ค. 54
  • ทำสัญญาประกันรายได้ 20 ม.ค.53 — 31 ก.ค.54 ภาคใต้ 2 พ.ค. 53 — 15 ก.ย. 54
          -  ระยะเวลาใช้สิทธิ         1 ก.พ.  - 15 ก.ย.54   ภาคใต้  1 มิ.ย. - 31 ต.ค. 54
  • ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกรกำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
                    - ข้าวเปลือกเจ้าตันละ        ตันละ 11,000 บาท    ไม่เกิน  30 ตัน / ครัวเรือน
                    - ข้าวเปลือกปทุมธานี1        ตันละ 11,500 บาท    ไม่เกิน  30 ตัน / ครัวเรือน
                    - ข้าวเปลือกเหนียว          ตันละ  10,000 บาท   ไม่เกิน  30 ตัน / ครัวเรือน

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้ ราคาข้าวส่วนใหญ่ยังคงลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากพ่อค้ารอดูสถานการณ์ผลผลิตข้าวนาปรังที่จะออกสู่ตลาดมากในเดือนเมษายน รวมทั้งช่วงนี้ไม่มีคำสั่งซื้อปริมาณมากจากต่างประเทศเข้ามา และมีข้าวคงเหลือในสต็อกเพียงพอต่อการส่งมอบจึงชะลอการรับซื้อ นอกจากนั้นเกษตรกรใช้รถเกี่ยวนวดข้าวความชื้นสูง พ่อค้าโรงสีจึงให้ราคาต่ำ

การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 29 มีนาคม 2554 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 2.926 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 2.071 ล้านตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 41.28 (ที่มา: กรมการค้าภายใน)

1.2 ราคา

ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,832 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,772 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.51

ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,034 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,399 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 4.35

ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,151 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,063 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.58

ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ความชื้น 14-15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,034 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,399 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 4.35

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,870 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,370 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 3.74

ราคาส่งออก เอฟ.โอ. บี

สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา แต่สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานราคา ดังนี้

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 997 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,943 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 992 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,913 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.50 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 30 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 762 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,885 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 759 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,887 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.40 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 2 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 499 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,986 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 503 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,168 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.80 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 182 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 468 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,055 บาท/ตัน) ราคาลดลงตันละ 472 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,233 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.85 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 178 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5%ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 515 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,467 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 519 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,650 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.77 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 183 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.0328 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

2.1 เวียดนามปรับราคาส่งออกขั้นต่ำ

สมาคมอาหารของเวียดนาม (The Viet Nam Food Association : VFA) รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 54 สมาคมอาหารได้ประกาศปรับลดราคาส่งออกขั้นต่ำ (Floor prices) โดยราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี. ข้าวขาว 5% ปรับลดเหลือตันละ 480 ดอลลาร์สหกรัฐ จากเดิมตันละ 500 ดอลลาร์สหรัฐ และข้าว 25% เหลือตันละ 460 ดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมตันละ 480 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 54 เนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลงจากตลาดส่งออก และปริมาณข้าวที่ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวฤดูใบไม้ผลิในเขตพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 54 สมาคมอาหารได้ประกาศปรับขึ้นราคาส่งออกขั้นต่ำ (Floor prices) โดยราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี. ข้าวขาว 5% ปรับเป็นตันละ 490 ดอลลาร์สหกรัฐ จากเดิมตันละ 480 ดอลลาร์สหรัฐ และข้าว 25% เป็นตันละ 470 ดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมตันละ 460 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. 54 เป็นต้นไป ซึ่งนับเป็นการปรับราคาส่งออกขั้นต่ำครั้งที่ 7 ของปีนี้

อนึ่ง สมาคมอาหารของเวียดนาม รายงานการส่งออกข้าวในช่วงวันที่ 1-15 มี.ค. 54 มีจำนวน 0.232 ล้านตัน มูลค่า 103.38 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกข้าวตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -15 มี.ค. 54 มีจำนวน 1.33 ล้านตัน มูลค่า 641.809 ล้านเหรียญสหรัฐ

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 28 มีนาคม - 3 เมษายน 2554--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ