เวทีภูมิภาค ร่วมระดมแนวทางรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อความมั่นคงทางอาหาร

ข่าวทั่วไป Friday April 22, 2011 13:33 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียนบวก 3 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อทรัพยากร และระดมความเห็นด้านนโยบาย การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวเพื่อนำไปสู่แนวทางและกลไกความร่วมมือในระดับภูมิภาค

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียนบวก 3 ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม — 1 เมษายน 2554 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ การผลิตภาคเกษตรและความมั่นคงทางอาหารในประเทศสมาชิกอาเซียนบวก 3 รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ และระดมความคิดเห็นด้านนโยบาย การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะแนวทางและกลไกความร่วมมือในระดับภูมิภาค โดยการประชุมดังกล่าวประกอบไปด้วยผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ASEAN, ESCAP, FAO, WMO, UNEP และผู้แทนทั้งจากหน่วยงานภาครัฐของประเทศสมาชิกอาเซียนบวก 3 เข้าร่วม

สำหรับสาขาความร่วมมือที่มีความสำคัญในลำดับสูง ได้แก่ 1. การประเมินความเสี่ยงและผลกระทบ 2.การรวบรวมจัดทำบัญชีข้อมูล (Stock taking) 3. การวิจัยและพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาพันธุ์พืช/สัตว์ ที่ทนต่อสภาวะฝนแล้ง น้ำท่วม ต้านทานต่อโรคแมลงศัตรูพืช การปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืช ระยะเวลาการปลูก การจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ และป่าไม้อย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาพลังงานชีวภาพจากพืชที่มิใช่อาหารและเศษเหลือจากวัสดุการเกษตร และเทคนิคการวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้มาตรฐาน 4. การสร้างจิตสำนึกในทุกระดับ และ 5. การเสริมสร้างขีดความสามารถในการปรับตัว เป็นต้น

ส่วนข้อเสนอแนะกลไกความร่วมมือที่เหมาะสม ประกอบด้วย 1.การจัดตั้งกลไกการดำเนินงาน 2. การจัดทำ Regional Climate Change Website เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้และเทคโนโลยี 3. การจัดตั้ง Center of Excellence on climate Change 4. การจัดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning and Monitoring System) 5. การจัดตั้งกลไกทางการเงิน 6. การกำหนดมาตรการทางภาษีและมาตรการจูงใจ และ 7.นโยบายสนับสนุนการลงทุนจากภาคเอกชน เป็นต้น

นอกจากความตื่นตัวในเวทีระดับภูมิภาคแล้ว ผู้บริโภคในประเทศสหภาพยุโรป เช่น สวีเดน ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนช่วยลดโลกร้อนเป็นอย่างมาก ทำให้ประเทศสวีเดนหาทางพัฒนาแผนการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสภาพภูมิอากาศหรือ “Climate Certification” ซึ่งในขั้นเริ่มต้น Climate Certification จะถูกนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศสวีเดนเท่านั้น แต่ในอนาคตผู้ประกอบการแปรรูปอาหารในต่างประเทศ อาจขอเข้าร่วมระบบรับรองได้ตามความสมัครใจ (voluntary certification system) ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของผู้ผลิตอาหาร

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ