1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
กระทรวงเกษตรฯวางแผนประมงปลาทูน่าแนวใหม่ 4 ปี
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินทางกลับจากการเข้าร่วมประชุม Indian Ocean Marine Affairs Cooperation : IOMAC กระทรวงประมงและพัฒนาทรัพยากรสัตว์น้ำ ศรีลังกา เป็นเจ้าภาพมีผู้เข้าร่วมประชุม 8 ประเทศ คือ ไทย ศรีลังกา มัลดีฟส์ ซูดาน พม่า เคนยา อินโดนีเซีย และอิหร่าน แต่ละประเทศให้ความสนใจร่วมกันประเมินสถานการณ์ประมงปลาทูน่า ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาคนี้ จึงควรจะต้องมีการพัฒนาหลักเกณฑ์การจัดสรรโควตาในกลุ่มสมาชิกคณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย เพื่อวางแผนบริหารจัดการด้านประมงระยะยาว ดังนั้น นายธีระ จึงมีนโยบายให้เร่งจัดทำแผนการดำเนินงานในกรอบ 4 ปี ระหว่างปี 2554-2557 โดยเสนอในนามประเทศไทยต่อคณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย มุ่งเน้นการจัดทำแผนพัฒนากองเรือประมงจับปลาทูน่า การพัฒนาเรืออวนล้อมจับปลาทูน่าจำนวน 60 ลำ ได้ผลผลิตปีละประมาณ 2,500 ตัน/ลำ/ปี รวมปีละ 150,000 ตัน ควบคู่กับการตลาดนำปลาดังกล่าวป้อนโรงงานผลิตปลากระป๋องเป็นหลัก ส่วนเรือเบ็ดราวปลาทูน่าอีก 50 ลำมีผลผลิต 100 ตัน/ลำ/ปี แนวโน้มการตลาด ปี 2554 เมื่อทุกประเทศดำเนินการตามแผนดังกล่าว จะสามารถนำปลาทูน่าส่วนหนึ่งมาเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานได้ถึง 37,500 ตัน และส่งตลาดปลาดิบได้อีก 1,500 ตัน ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ ของไทยจะเร่งนำเสนอแผน 4 ปี เสนอ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ เพื่อผลทางเศรษฐกิจและการตลาดโดยรวมที่จะสามารถลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าปลาทูน่าจากต่างประเทศปีละหลายพันล้านบาท โดยหันมาหาวัตถุดิบปลาทูน่าของตนเองนำไปป้อนโรงงานกระป๋อง ซึ่งมีความต้องการจำนวนมาก สำหรับไทยเป็นประเทศที่ผลิตปลาทูน่ากระป๋องส่งออกรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และส่งออกเป็นอับดับ 1 ของโลก รวมปีละกว่า 3,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันต้องนำเข้าวัตถุดิบปลาทูน่าจากต่างประเทศสูงถึงปีละ 800,000 ตัน
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มีรายงานราคาจากองค์การสะพานปลากรุงเทพฯ
การตลาด
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 42.47 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 42.66 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.19 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคา
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 59.49 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 58.74 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.75 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคา
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 150.33 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 144.30 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 6.03 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 155.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 55.69 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 56.07 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.38 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคา
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 123.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคา
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 9.83 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 16 - 22 เม.ย. 2554) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 28.67 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 30.60 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.93 บาท
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 18 - 24 เมษายน 2554--