สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 จ.ขอนแก่น เผยผลการประเมินผู้แทนเกษตรกรระดับตำบลเพื่อขับเคลื่อนสภาเกษตรกรแห่งชาติ ใน 12 จังหวัดภาคอีสานตอนบน พบว่า ผู้แทนเกษตรกรส่วนใหญ่ มีความรู้เกี่ยวกับพรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 เป็นอย่างดี และส่วนใหญ่มีความคาดหวังว่าสภาเกษตรกรแห่งชาติจะแก้ปัญหาการเกษตรได้ โดยต้องการให้สภาเกษตรกรช่วยเหลือด้านราคาผลผลิตเป็นส่วนใหญ่
นายบัณฑิต มงคลวีราพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 (สศข.4) จังหวัดขอนแก่น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้เข้าร่วมประชุมสัมมนาการสร้างพลังเครือข่ายผู้แทนเกษตรกรระดับตำบล พร้อมกับนำทีมเจ้าหน้าที่เพื่อร่วมประเมินผลรับฟังข้อคิดเห็นผู้แทนเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของสภาเกษตรกรแห่งชาติเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเจริญธานี ปริ๊นเซส อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้แทนเกษตรกรระดับตำบล จำนวน 1,455 คน จาก 12 จังหวัดภาคอีสานตอนบน ได้แก่จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม เลย มุกดาหาร และบึงกาฬ เกี่ยวกับการรับรู้ข่าวสารการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรระดับหมู่บ้าน ความรู้เกี่ยวกับ พรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 ความคาดหวังที่มีต่อสภาเกษตรกรแห่งชาติ และความต้องการให้สภาเกษตรกรแห่งชาติช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน
สำหรับผลการประเมินผู้แทนเกษตรกรระดับตำบลได้แบ่งหัวข้อประเมินเป็น 4 ส่วนพบว่า ส่วนที่1 การรับรู้ข้อมูลข่าวสารก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรระดับหมู่บ้าน ร้อยละ 64 มีความรู้เกี่ยวกับสภาเกษตรกรน้อย และ ร้อยละ56 รับรู้ข่าวสารจากอินเตอร์เน็ท รองลงมาคือรู้จากหอกระจายข่าวหมู่บ้าน โทรทัศน์ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนที่2 ความรู้เกี่ยวกับพรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 ผู้แทนเกษตรกรร้อยละ 89 มีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างมากในการจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร การจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมและพัฒนาส่งเสริมความเข้มแข็งของเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร ร้อยละ 77 ทราบว่าองค์ประกอบของสภาเกษตรกรแห่งชาติประกอบด้วยใครบ้างจำนวนกี่คน ร้อยละ 82 รู้ว่าการเลือกตั้งผู้แทนระดับอำเภอจะดำเนินการภายใน 30 วัน และร้อยละ 95 รู้ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานยกร่างและผลักดัน พรบ. สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 จนมีผลบังคับใช้
ส่วนที่3 ระดับความคาดหวังที่มีต่อสภาเกษตรกรแห่งชาติ พบว่า ร้อยละ 75 หวังว่าสภาเกษตรกรแห่งชาติจะแก้ปัญหาการเกษตรได้ ร้อยละ73 หวังว่าจะสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรได้ ร้อยละ 71 หวังว่าจะจัดทำแผนการเกษตรที่ตรงกับความต้องการและแก้ไขปัญหาได้ และร้อยละ69 หวังว่าจะช่วยให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ดีขึ้น และ ส่วนที่4 ความต้องการให้สภาเกษตรกรแห่งชาติช่วยเหลือแก้ไขปัญหา ปรากฏว่าร้อยละ 75 ต้องการให้ช่วยด้านราคาผลผลิต ร้อยละ 58 ด้านการแก้ไขปัญหาน้ำ ร้อยละ 41 ด้านราคาปัจจัยการผลิตและด้านหนี้สิน ร้อยละ 34 ด้านเงินทุนและสินเชื่อ ร้อยละ 32 ด้านที่ดินทำกิน และร้อยละ31 ด้านสวัสดิการเกษตรกร
ผู้อำนวยการ สศข.4 กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการเสวนาบทบาทของสภาเกษตรกรจะเป็นช่องทางที่จะช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของเกษตรกรได้ตรงตามความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง เช่น ปัญหาที่ดินทำกิน ผลผลิตตกต่ำและปัจจัยการผลิตราคาสูง ซึ่งสภาเกษตรกรจะช่วยแก้ไขได้ขึ้นอยู่กับ คุณภาพ ความรู้ ความเข้าใจปัญหาของสมาชิกสภาเกษตรกร ความร่วมมือของเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศ การตอบสนองของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และบทบาทของผู้แทนเกษตรกรระดับหมู่บ้าน/ตำบล ถือว่าเป็นผู้ที่มีความสำคัญที่จะเป็นเครือข่ายของสภาเกษตรกรจังหวัดในการจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม เป็นพลังสำคัญที่จะสนับสนุนให้สภาเกษตรกรสามารถขับเคลื่อนไปได้ตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งการให้ข้อมูล และการมีส่วนร่วมกับสภาเกษตรกรจังหวัดของตนเอง
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--